สพฐ. เดินหน้าส่งเสริมการเตรียมความพร้อมกำลังคนด้านวิศวกรรมอาร์แอนด์ดี เพื่อสนับสนุนกำลังคนด้านการวิจัย นวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรมและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศตามนโยบายรัฐบาล

สพฐ. เดินหน้าส่งเสริมการเตรียมความพร้อมกำลังคนด้านวิศวกรรมอาร์แอนด์ดี เพื่อสนับสนุนกำลังคนด้านการวิจัย นวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรมและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศตามนโยบายรัฐบาล
---------------------------
ดร.สุเทพ ชิตยวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังคนที่สามารถตอบสนองความต้องการในภาคอุตสาหกรรมในอนาคตของประเทศ ที่สอดรับกับทิศทางในการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และนโยบายประเทศไทย 4.0 (อุตสาหกรรม 4.0) ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีบุคลากรที่สำเร็จการศึกษาจากกระบวนการบ่มเพาะด้วยหลักสูตรการศึกษาของสถาบัน KOSEN
.
เพื่อให้ได้บุคลากรที่สามารถดูดซับเทคโนโลยีสมัยใหม่ วิจัย พัฒนาต่อยอดและถ่ายทอดด้านวิศวกรรมศาสตร์ รวมถึงสามารถปฏิบัติงานด้านวิศวกรรมเชิงวิจัยในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ของประเทศไทยได้ จึงมอบหมายให้ ดร.พีระ รัตนวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นำคณะที่ปรึกษาและกรรมการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสถาบันโคเซ็นประเทศญี่ปุ่นและกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย สพฐ. เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการความร่วมมือฯ ครั้งที่ 5 (5th Organizing Committee Meeting) ระหว่างวันที่ 30 กรกฎาคม – 3 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา
ณ สถาบัน Sendai KOSEN ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งคณะฝ่ายไทยนอกจากรองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว
.
ยังมี ดร.โกศล เพ็ชร์สุวรรณ์ (ที่ปรึกษา) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยุวดี นาคะผดุงรัตน์ (Co-Chairman) คุณสมใจ คล้ายสุบรรณ์ อัครราชทูตที่ปรึกษาด้านการศึกษา สถานเอกอักคราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว ดร.ภูริวรรษ คำอ้ายกาวิน ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา สพฐ. รวมถึงเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเดินทางเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ สำหรับฝ่ายญี่ปุ่นประกอบด้วย Dr. Kenji Higashida Executive Director, KOSEN Head Office (Co-Chairman, Dr. Omura Hiroshi Deputy Director General, KOSEN Head Office และอธิการบดีสถาบันโคเซ็น จำนวน 6 แห่ง พร้อมด้วยบุคลากร เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องฝ่ายต่างๆ ของสถาบันโคเซ็น
.
การศึกษาระบบโคเซ็น (KOSEN) ของประเทศญี่ปุ่น เน้นการบูรณาการคณิตศาสตร์ชั้นสูง กับทฤษฎีและการปฏิบัติทางวิศวกรรมศาสตร์ ผู้สำเร็จการศึกษาจะเป็นวิศวกรนักวิจัยเชิงสร้างสรรค์ที่มีประสบการณ์ที่เน้นการปฏิบัติงานวิจัยเชิงสร้างสรรค์ มีความรู้ด้านทฤษฎี (Practical engineers and researchers with creative minds) และมีความสามารถทางเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย (Cutting-edge technology) ตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก อีกทั้งยังเป็นที่ยอมรับในญี่ปุ่นว่าเป็นวิศวกรที่มีความรู้ความสามารถสูง สถาบันโคเซ็นได้ผลิตวิศวกรที่เน้นการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ล้ำสมัยและมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นมามากกว่า 8 แสนคน ทำให้ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศผู้นำทางด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีแนวหน้าของโลกมาโดยตลอด
.
การประชุมคณะกรรมการความร่วมมือฯ 5th Organizing Committee Meeting ครั้งนี้มีสาระสำคัญของการประชุมประกอบด้วย การรับทราบผลการศึกษานักเรียนทุนรัฐบาลไทยตามโครงการทุนการศึกษาของนักเรียนโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยไปศึกษาต่อ ณ สถาบันโคเซ็นประเทศญี่ปุ่น รุ่นที่ 1และรุ่นที่ 2 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2561 จำนวน 23 คน ขณะนี้กำลังศึกษา ณ สถาบันโคเซ็น ต่างๆ จำนวน 6 แห่ง ในสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ ประกอบด้วย 
กลุ่มสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล (Mechanical Engineering) จำนวน 5 คน 
กลุ่มสาขาวิชาวิศวกรรมวัสดุศาสตร์และเคมีวัสดุ (Materials and Chemistry Materials Engineering) จำนวน 6 คน
กลุ่มสาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (Electrical and Engineering) จำนวน 6 คน
กลุ่มสาขาวิชาวิศวกรรมระบบอุตสาหกรรมและสารสนเทศ (Industrial Systems and Information System Engineering) จำนวน 3 คน
กลุ่มสาขาวิชาวิศวกรรมวิทยาศาสตร์ประยุกต์และหุ่นยนต์ (Advanced Science/ Applied Science and Robotic) จำนวน 3 คน
.
โดยนักเรียนทุนที่กำลังศึกษาอยู่ ณ สถาบันโคเซ็น ทุกคนมีผลการเรียนดีเยี่ยมและมีความสุขกับการเรียนอย่างเป็นที่น่าพอใจ ในจำนวนนักเรียนเหล่านี้มีนักเรียนที่สามารถสอบได้ที่ 1 ของรุ่นในชั้นเรียนรวมกับนักเรียนโคเซ็น ได้แก่ 
น.ส.กมลภัทร อินต๊ะวงศ์ (โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย พิษณุโลก) กำลังศึกษาสาขาวิชา Computer Science Course ณ Ibaraki KOSEN (รุ่นที่ 1) นายปุณณ์ มานะกิจศิริสุทธิ (โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย พิษณุโลก) กำลังศึกษาสาขาวิชา Integrated Science and Technology Mechanical System Course ณ Tsuyama KOSEN (รุ่นที่2) นอกจากนี้ยังมีนักเรียนทุนอีกหลายคนที่สอบได้ติดอันดับ Top 5 และได้คะแนน 100 คะแนนเต็มในวิชาต่างๆ เช่น Calculus Algebraic Geometry Physics Digital Engineering และภาษาญี่ปุ่น เป็นต้น
.
นอกจจากนี้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระดับสถาบัน ระหว่างสถาบัน KOSEN และ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ในการแลกเปลี่ยนนักเรียนครูและบุคลากรทั้งในการเรียนการสอน การทำวิจัยนวัตกรรม ความร่วมมือกับสถาบันโคเซ็นของประเทศไทยในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงการพัฒนากำลังคนที่สามารถตอบสนองความต้องการในภาคอุตสาหกรรมในอนาคตของประเทศ ที่สอดรับกับทิศทางในการพัฒนาประเทศตามกรอบวิสัยทัศน์และเป้าหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 12 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่กำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศมุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านประเทศไทยจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง โดยกำหนดตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ของประเทศไทยให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูงและสามารถกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม เป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาคสู่ความเป็นชาติการค้าและบริการ (Trading and Service Nation) รวมทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรม First S-curve และ New S-curve ทั้ง 10 ประเภท ตามนโยบายประเทศไทย 4.0 (อุตสาหกรรม 4.0) ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีบุคลากรที่สำเร็จการศึกษาจากกระบวนการบ่มเพาะด้วยหลักสูตรการศึกษาของสถาบัน KOSEN เพื่อให้ได้บุคลากรที่สามารถดูดซับเทคโนโลยีสมัยใหม่ วิจัย พัฒนาต่อยอดและถ่ายทอดด้านวิศวกรรมศาสตร์ รวมถึงสามารถปฏิบัติงานด้านวิศวกรรมเชิงวิจัยในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ของประเทศไทยได้ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้วยปัญญาและเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีความยั่งยืนในอนาคต
.



ใหม่กว่า เก่ากว่า