หารือบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก

หารือบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก ให้เขตพื้นที่ลงแผนดำเนินงาน30 ส.ค.นี้ พร้อมตั้งทีมแก้ไขแนวทางและหลักสูตรที่เกี่ยวกับโรงเรียนขนาดเล็กให้ทันใหม่

นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ว่า
ที่ประชุมได้หารือแผนการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 15,715 โรงเรียน โดยมีการสำรวจข้อมูลสภาพปัญหาในแต่ละพื้นที่ รวมถึงกำหนดแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก ปีงบประมาณ 2562-2565 ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ
จากการสำรวจมีข้อมูลที่น่าสนใจ พบว่า ในหลายพื้นที่แก้ปัญหาด้วยวิธีการควบรวม โดยมีการเรียนรวมทุกชั้น และเรียนรวมบางชั้นเรียน ล่าสุดมีโรงเรียนที่ควบรวมไปแล้ว 5,685 โรงเรียน มีนักเรียนได้รับการสนับสนุนค่าพาหนะกว่า 75,000 คน
เพื่อใช้เดินทางไปเรียนในโรงเรียนดีใกล้บ้านที่มีอยู่ 249 โรงเรียน และโรงเรียนเครือข่าย 474 โรงเรียน ซึ่ง สพฐ.ได้สนับสนุนการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบต่างๆ สำหรับการเรียนแบบคละชั้น การจัดสื่อการเรียนการสอน และการศึกษาทางไกล DLTV/DLIT การบูรณาการเรียนการสอนลักษณะนี้เป็นแนวทางที่สพฐ.จะขับเคลื่อนต่อไป
“วันที่ 30 สิงหาคม นี้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) ทั่วประเทศ จะส่งแผนการบริการจัดการโรงเรียนขนาดเล็กมาให้ สพฐ.พิจารณา ซึ่งจากข้อมูลยังมีโรงเรียนที่ต้องคงอยู่
เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารอีก 1,917 แห่ง ซึ่ง สพฐ.จะทำงานเชิงรุก ที่ผ่านมาพบแล้วว่าการควบรวมโรงเรียนเป็นการส่งเสริมให้เกิดคุณภาพการศึกษา
แต่ต้องดูบริบทที่เหมาะสมด้วย การพิจารณาแก้ปัญหาจะขึ้นอยู่กับเขตพื้นที่นั้นๆที่จะบริหารจัดการโรงเรียน” นายสุเทพ กล่าว
นายสุเทพ กล่าวอีกว่า ในส่วนของอัตราผู้บริหารโรงเรียนที่ควบรวม จะต้องถูกยุบตามหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของเขตพื้นที่
ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ได้ขอให้เขตพื้นที่ฯแจ้งตัวเลขผู้บริหารว่ามีเท่าไร โดยนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ให้นโยบายมาว่าเป็นไปได้หรือไม่ เมื่อควบรวมโรงเรียนแล้ว จะให้อัตราผู้บริหารมาอยู่ในโรงเรียนอนุบาล เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน
ขณะที่คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ(คปร.) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) กำหนดมาแล้วว่า โรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน เมื่อมีผู้บริหารเกษียณก็ให้ตำแหน่งยุบตามตัวบุคคล ไม่แต่งตั้ง ซึ่งเท่าที่สำรวจแล้ว พบว่า
โรงเรียนที่อยู่ในกลุ่มนี้มีอยู่จังหวัดละ 1 แห่ง รวมแล้วประมาณกว่า 70 โรงเรียนทั่วประเทศ และบางแห่งจำเป็นต้องคงอัตราไว้ เพราะเป็นโรงเรียนในพื้นที่เกาะแก่ง พื้นที่ห่างไกล กันดาร โดดเดี่ยว
ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ สพฐ.ได้ส่งหนังสือ ขอยกเว้นไม่ยุบอัตราในกรณีที่จำเป็นไว้แล้ว ผู้บริหารที่สอบขึ้นบัญชี และอบรมเรียบร้อยแล้วก็ไม่ต้องกังวล ว่าจะไม่มีอัตราบรรจุ ทราบว่ามีหลายคนกังวลว่าจะมีปัญหา ก็ไม่ต้องห่วง
นอกจากนี้ยังสั่งการให้ สพฐ.ไปรวบรวมกฎหมายต่างๆที่ใช้มานานกว่า 5 ปี ทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตร โรงเรียนขนาดเล็ก การบริหารเขตพื้นที่ฯ เพื่อปรับปรุงให้ทันสมัยและมีความเหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน โดย สพฐ.ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาเรื่องดังกล่าวนี้แล้ว




ใหม่กว่า เก่ากว่า