รองเลขาธิการ กพฐ. (ดร.อัมพร พินะสา) แนะโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมกาญจนบุรี "ปรับวิธีคิด-วิธีทำใหม่-ทำทันที-สร้างนวัตกรรมภายใต้ข้อจำกัดที่มี" เพื่อร่วมพัฒนาเด็กกาญจนบุรีให้มีคุณภาพ

รองเลขาธิการ กพฐ. (ดร.อัมพร พินะสา) แนะโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมกาญจนบุรี "ปรับวิธีคิด-วิธีทำใหม่-ทำทันที-สร้างนวัตกรรมภายใต้ข้อจำกัดที่มี" เพื่อร่วมพัฒนาเด็กกาญจนบุรีให้มีคุณภาพ



เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2562 ดร.อัมพร พินะสา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานการประชุมและบรรยายพิเศษ ในการประชุมปฏิบัติการจัดทำแผนการดำเนินงานของโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดกาญจนบุรี ณ โรงแรมราชศุภมิตร อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ผู้บริหารและครูในโรงเรียนนำร่อง ทั้ง 41 โรงเรียน โรงเรียนละ คน ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้แทนสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ศึกษานิเทศก์ และผู้เกี่ยวข้อง รวม 250 คน


สาระสำคัญที่รองเลขาธิการ กพฐ. (ดร.อัมพร พินะสา) ได้ให้แนวคิดแนวทางต่อที่ประชุม มีดังนี้
1. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เกิดขึ้นมาแล้ว จะต้องตั้งอยู่ และยั่งยืนได้อย่างไร ดังนั้น ผู้เกี่ยวข้องจะต้องทำความเข้าใจว่าพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาคืออะไร ทำไมต้องมีพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และจะทำอย่างไรในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา หากมีคำถามว่าพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดกาญจนบุรีจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ คำตอบอยู่ที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในจังหวัดกาญจนบุรีว่า จะทำได้สำเร็จหรือไม่ เพราะโอกาสเปิดให้ทุกภาคส่วนในกาญจนบุรีร่วมคิดร่วมทำและจัดการศึกษาให้ตอบโจทย์พื้นที่ได้เอง



2. การศึกษาที่มุ่งหวังเป็นอย่างไร การศึกษาที่ดีที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องการ นั่นคือ การศึกษาที่สร้างลูกให้เป็นคนดี คนเก่ง มีงานทำ มีความสุข ขณะที่สังคมก็คาดหวังให้ครอบครัวส่งเสริมสนับสนุนลูกให้เป็นคนดีคนเก่งของสังคม แต่พ่อแม่จะให้การศึกษาแก่ลูกและสร้างลูกให้เป็นอย่างที่มุ่งหวังนั้นไม่สามารถทำได้อย่างที่ต้องการทุกคน พ่อแม่ไม่สามารถดูแลได้เต็ม 100% โรงเรียนจึงจะต้องเป็นบ้านหลังที่สองของเด็กๆ คำถามคือ โรงเรียนของเราเป็นบ้านหลังที่สองที่ดีเพียงพอแล้วหรือยัง ครูและผู้บริหารโรงเรียนเป็นพ่อแม่คนที่สองอย่างเต็มที่แล้วหรือยัง และไม่ใช่เพียงโทษครูว่าไม่ดี ไม่เก่ง จึงทำให้ไม่สามารถสร้างคนคุณภาพให้กับสังคมได้ แต่สังคม คนทั้งสังคมและประเทศชาติจะต้องร่วมกันสร้างเด็ก เยาวชน และคนไทยให้มีคุณภาพร่วมกัน และเครื่องมือสำคัญในการสร้างคนให้มีคุณภาพก็คือ “การศึกษา”

3. การศึกษา ที่จะเป็นเครื่องมือสร้างคน จะต้องเกิดขึ้นได้ทุกมิติ ทุกหนทุกแห่ง เด็กอยู่ที่บ้าน พ่อแม่เป็นครูสอนให้เด็กเรียนรู้กิจวัตรประจำวัน ฝึกให้รับผิดชอบ สร้างวินัยจากบ้าน ดังนั้น การศึกษาจึงเริ่มต้นจากฐานครอบครัว คำถามก็คือ แล้วขณะนี้พ่อแม่ผู้ปกครอง/ครอบครัวคิดเช่นนี้หรือไม่ ที่จะสร้างลูกให้เป็นคนคุณภาพจากในบ้าน สภาพครอบครัวและสังคมปัจจุบันจะพบพ่อแม่วัยใสท้องไม่พร้อม มีลูกด้วยความบังเอิญ จากคำกล่าวที่ว่า “ไม่มีเด็กแย่ในครอบครัวที่พ่อแม่พร้อม และให้การเลี้ยงดูอย่างเข้าใจ” แต่เมื่อพ่อแม่ไม่พร้อมและเลี้ยงดูไม่ได้ จึงมีปัญหา ดังนั้น การศึกษาที่ดีจึงต้องเริ่มที่บ้าน เมื่อบ้านดี โรงเรียนดี ก็จะสร้างคนอย่างมีคุณภาพ จึงจะเป็น “การศึกษาสร้างคน คนสร้างชาติ” และการศึกษาสร้างความเจริญงอกงามให้กับชีวิตของคนทุกคน เด็กจะได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพที่ควรจะเป็น ฉะนั้น เมื่อกาญจนบุรีสร้างคนดี เก่ง พึ่งตนเองได้ จังหวัดกาญจนบุรีจะเป็นเมืองที่น่าอยู่ที่สุด ถ้าทำไม่ได้ เด็กวันนี้ อาจเป็นโจรในวันหน้า และกลับมาปล้นบ้านและสร้างความเดือนร้อนให้เราในอนาคตอันใกล้



4. ความคาดหวังในการสร้างคนให้มีคุณภาพในทุกช่วงของชีวิต ตั้งแต่เกิด เรียน จบการศึกษา และมีงานทำ นั่นคือ เกิดในครอบครัวคุณภาพ ได้รับการดูแลจากสาธารณสุขและผู้เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน เมื่อเข้าเรียนได้เรียนในโรงเรียนที่ดีมีคุณภาพ จบการศึกษามีงานทำมีรายได้ เพื่อไปสร้างครอบครัวของตนเองให้เป็นครอบครัวที่มีคุณภาพ ที่สำคัญคือ คนคุณภาพจะต้องมีฝัน มีแรงบันดาลใจที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น เพราะแค่เพียงคิดชีวิตเปลี่ยน แต่เมื่อลงมือทำจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง


5. สภาพความเป็นจริงของการสร้างคนให้มีคุณภาพ จะพบว่ายังไม่เป็นไปตามความคาดหวัง คุณภาพการเกิดของเด็กในแต่ละครอบครัว มีความจริงว่า “ยิ่งจน ยิ่งดก” คนยากจนมักมีลูกมาก แต่คนมีฐานะดีจะมีลูกยาก ปัญหาแม่วัยใสจะแก้ไขอย่างไร หากแก้ไขด้วยฐานการศึกษา ที่จะให้รู้เข้าใจ ตระหนัก และไม่มีลูกก่อนวัยอันควร ซึ่งจะต้องมีวิธีการและหาแนวทางความร่วมมือในการดำเนินการกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สำหรับอัตราการเข้าเรียนของเด็กวัยเรียน ยังพบว่า ยังมีเด็กในหลายพื้นที่ตกหล่นด้วยหลายสาเหตุ เช่น เกิดไม่แจ้ง หรืออยู่ในพื้นที่ห่างไกล จะทำอย่างไรให้สามารถเข้าเรียนได้ 100% เมื่อเด็กจบการศึกษาแล้วสามารถมีงานทำ หรือสามารถหาเลี้ยงตัวเองได้หรือไม่ หากฝึกให้นักเรียนมีความพร้อมในการเรียนรู้และประกอบอาชีพได้เอง ก็จะไม่มีปัญหาจบการศึกษาแล้วไม่มีงานทำ ครอบครัวเองควรปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงลูกให้พึ่งตนเองได้ โดยเลี้ยงแบบไก่ นั่นคือ ให้หากินได้เอง และปรับเปลี่ยนให้มีวิธีคิดใหม่ มีแรงบันดาลใจในการหาเลี้ยงชีพ ทั้งนี้ ครูเองก็จะต้องสร้างแรงบันดาลใจและเตรียมผู้เรียนให้พร้อมพึ่งตนเองด้วย

6. สาเหตุของอุปสรรคในการสร้างและพัฒนาคนให้มีคุณภาพ มาจากความแตกต่างของสภาพภูมิสังคม สภาพภูมิศาสตร์ และการบริหารจัดการที่แตกต่างกันของแต่ละพื้นที่ ทำให้การบริหารจัดการแบบบนลงล่าง (top down) ไม่ตอบโจทย์พื้นที่ ไม่สามารถยกระดับคุณภาพการศึกษาได้จริง
 
7. วิธีการแก้ไขจึงให้ความสำคัญของสิ่งดีที่เป็นรากเหง้าของสังคมไทย นั่นคือ การศึกษาและการเรียนรู้แบบพึ่งพาอาศัยกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และให้ร่วมกันในการหาแนวทาง วิธีการแก้ไขปัญหาด้วยผู้บริหาร ครู และผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่เอง เพื่อให้ได้วิธีที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลต่อคุณภาพผู้เรียน และถูกจริตครูในพื้นที่ จึงเป็นที่มาของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 เป็นการเปิดโอกาสให้พื้นที่ดูข้อจำกัดในการจัดการศึกษาของพื้นที่ อาจมาพิจารณาว่า กลุ่มสาระ เรียน 200 วัน เหมาะสมหรือไม่ หรือมีประเด็นใดที่จะสามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับหลักสูตร การบริหารจัดการ การจัดการเรียนการสอน หรือจะปรับการวัดประเมินผลให้เป็นการคิดวิธีการวัดผลความดี ความเก่ง และความสุข ในแบบที่พื้นที่ต้องการได้เอง

8. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา มีคำว่าพื้นที่ หมายถึงขอบเขต หรืออาณาเขต ซึ่งจังหวัดกาญจนบุรีเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับโอกาสในการพัฒนาตามความต้องการของพื้นที่ การดำเนินการต้องการ “ใจ” จึงให้มีการรวมกลุ่มโรงเรียนที่ใจสู้และเห็นด้วยที่จะใช้โอกาสนี้สร้างการเปลี่ยนแปลงในการสร้างและพัฒนาคนกาญจนบุรีให้มีคุณภาพ ร่วมกันคิดจากปัญหา หาสาเหตุ และวิธีการแก้ไข ดำเนินการให้มีการปลดล็อกอุปสรรคด้วยบทบาทของคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดกาญจนบุรี หากอยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ของจังหวัดให้เสนอไปยังคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาผ่าน สพฐ.

สิ่งสำคัญเหนืออื่นใดคือ การทำงานนี้ด้วยใจ และทำเพื่อเด็ก ให้เด็กกาญจนบุรีเก่ง ดี สุข สร้างตัวชี้วัดในการแก้ปัญหา เลือกใช้ หรือคิดค้นพัฒนานวัตกรรม ภายใต้ข้อจำกัดที่มีอยู่ ให้ได้ ดังนั้น สิ่งใดที่โรงเรียนนำร่องสามารถทำได้ให้ลงมือทำทันที บนฐานการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน หากติดขัดแจ้งเขต/คณะกรรมการขับเคลื่อนระดับจังหวัด เพื่อใช้โอกาสของการอยู่ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาสร้างรูปธรรมของความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพเด็กและเยาวชน ให้เป็นที่ประจักษ์ของชุมชน สังคม และประเทศ
ใหม่กว่า เก่ากว่า