วันที่ 4 เมษายน 2564 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมด้วยนายยุทธนา สำราญกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากรุงเทพมหานคร พันตำรวจเอกบุญส่ง จันทรีศรี ประธานคณะกรรมการสถานศึกษาฯ และคณะทำงาน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการรับนักเรียน ประจำปีการศึกษา 2564 ด้วยวิธีการจับสลากนักเรียนในเขตพื้นที่บริการ ณ โรงเรียนอนุบาลสามเสน กรุงเทพฯ เพื่อติดตามและเยี่ยมชมกระบวนการรับนักเรียนด้วยวิธีการจับสลาก ภายใต้สถานการณ์ COVID-19 พร้อมทั้งตรวจสอบความพร้อมของโรงเรียนในการเปิดภาคเรียนที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2564
.
นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า จากการตรวจเยี่ยมการรับนักเรียนด้วยวิธีการจับสลากที่โรงเรียนอนุบาลสามเสนในวันนี้ พบว่าสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยเป็นที่น่าพึงพอใจ ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ตั้งแต่การคัดกรอง มีการวัดอุณหภูมิ มีเจลล้างมือแอลกอฮอล์ รวมถึงการจัดห้องจับสลากก็มีความโปร่งใสตรวจสอบได้ และคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเชื่อว่าโรงเรียนอื่นๆ ที่จับสลากในวันนี้ก็จะดำเนินการอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน
.
สำหรับภาพรวมของการรับนักเรียนชั้นอนุบาล 1 ในโรงเรียนสังกัด สพป.กทม. มีโรงเรียนที่มีการจับสลากจำนวน 4 แห่ง ได้แก่ 1. โรงเรียนอนุบาลสามเสน (สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลอุปถัมภ์) 2. โรงเรียนพญาไท 3. โรงเรียนอนุบาลพิบูลเวศม์ 4. โรงเรียนวัดอมรินทราราม โดยโรงเรียนอนุบาลสามเสน มีแผนการรับนักเรียน 90 คน (3 ห้องเรียน) มีนักเรียนมาสมัคร 276 คน คิดเป็นอัตราส่วน 1:3.07 / โรงเรียนพญาไท มีแผนการรับนักเรียน 120 คน (4 ห้องเรียน) มีนักเรียนมาสมัคร 142 คน คิดเป็นอัตราส่วน 1:1.18 / โรงเรียนอนุบาลพิบูลเวศม์ มีแผนการรับนักเรียน 60 คน (2 ห้องเรียน) มีนักเรียนมาสมัคร 77 คน คิดเป็นอัตราส่วน 1:1.28 / และโรงเรียนวัดอมรินทราราม มีแผนการรับนักเรียน 90 คน (3 ห้องเรียน) มีนักเรียนมาสมัคร 95 คน คิดเป็นอัตราส่วน 1:1.06
.
นายอัมพร กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของนักเรียนและผู้ปกครองที่จับสลากไม่ได้ก็ได้มอบหมายให้ทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้ติดตาม ส่งเสริม และสนับสนุนให้นักเรียนทุกคนได้มีที่เรียน ซึ่งทุกโรงเรียนต่างพร้อมที่จะรับและจัดที่เรียนให้นักเรียนได้เรียนครบทุกคน หากแต่มีข้อจำกัดในเรื่องของพื้นที่และจำนวนห้องที่สามารถจะรับได้ โดยเราเชื่อว่าโรงเรียนในเขตกรุงเทพฯ ต่างก็มีมาตรฐานไม่แตกต่างกันมากนัก ขอให้ผู้ปกครองและบุตรหลานมีความมั่นใจในส่วนนี้
.
"แต่ทั้งนี้คุณภาพการศึกษาจะเกิดขึ้นได้ ไม่ได้อยู่ที่โรงเรียนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่อยู่ที่ผู้ปกครองและตัวนักเรียนด้วยว่ามีความมุ่งมั่นตั้งใจในการเรียนการศึกษาร่วมกันมากแค่ไหน ตนขอเป็นกำลังใจให้ทุกคน สำหรับผู้ที่ยังจับสลากไม่ได้ ขอให้ไปสมัครในโรงเรียนที่เราได้มีคำแนะนำให้ หรือยื่นความจำนงเพื่อให้จัดสรรที่เรียนที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อหาโรงเรียนสำหรับเข้าศึกษาต่อไป" เลขาธิการ กพฐ. กล่าว