เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2564 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ร่วมประชุมสามัญประจำปี 2564 "มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี (CONNEXT ED)" เพื่อสานต่อเจตนารมณ์ขับเคลื่อนการศึกษาไทยให้มั่นคงและยั่งยืน พร้อมเดินหน้าสร้างวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมที่เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ามาส่งเสริมการศึกษาเยาวชนไทย ซึ่งจัดประชุมในรูปแบบออนไลน์ สอดรับกับชีวิตวิถีใหม่ นำโดย องคมนตรี พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ในฐานะประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ พร้อมด้วยคณะที่ปรึกษาและผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐ ภาคประชาสังคม อาทิ พลตรี ณัฐพงษ์ เพราแก้ว อนุกรรมการด้านนโยบายและแผน มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมฯ นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิฯ ตลอดจนซีอีโอ คณะผู้บริหารจาก 12 องค์กรผู้ร่วมก่อตั้ง เพื่อสานต่อภารกิจ พร้อมหารือและวางแผนการดำเนินงานในระยะต่อไป
สำหรับการดำเนินการในระยะต่อไป ได้แก่ การเก็บข้อมูลสมุดพกดิจิทัลในโรงเรียนคอนเน็กซ์อีดีทั่วประเทศ ปรับเกณฑ์การวัด School Grading ให้ท้าทายมากยิ่งขึ้น รวมถึงเปิดระดมทุนเพื่อการศึกษา (CONNEXT ED Crowdfunding) ระยะที่ 2 นอกจากนี้ ยังเดินหน้าสร้างบุคลากรด้านไอซีที เปิดรับสมัครผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (ICT Talent) ภาครัฐ รุ่นที่ 2 อีกทั้งนำโมเดลองค์ความรู้ของแต่ละองค์กรเอกชนและพันธมิตร มาขยายผลและแบ่งปันสู่สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ผลักดันการระดมทุนในโครงการคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กเพื่อการศึกษา (Notebook for Education) ตลอดจนมุ่งเน้นการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมให้แก่เยาวชนไทย
ทั้งนี้ ในปี 2563 ที่ผ่านมา มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี ได้มีส่วนร่วมในการยกระดับการจัดการศึกษาในโรงเรียนคอนเน็กซ์อีดี จากโรงเรียนในสังกัดสพฐ. ทั่วประเทศ เพิ่มขึ้นเป็น 5,567 แห่ง มีนักเรียนที่อยู่ในการดูแลของมูลนิธิฯ กว่า 1 ล้านคน พร้อมขยายความร่วมมือจาก 12 องค์กรเอกชนชั้นนำผู้ร่วมก่อตั้ง กับ 32 เครือข่ายพันธมิตรใหม่ รวมเป็น 44 องค์กร โดยมีผลการดำเนินงานในระยะที่ผ่านมา สอดคล้องตาม 5 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่
1. การเปิดเผยข้อมูลโรงเรียนสู่สาธารณะอย่างโปร่งใส (Transparency) โดยจัดเก็บข้อมูลและประเมินคุณภาพโรงเรียน ผ่านระบบฐานข้อมูลและการบริหารจัดการโรงเรียน (School Management System) ที่ช่วยให้การบริหารจัดการสถานศึกษาทั่วประเทศมีประสิทธิภาพ เชื่อมโยงข้อมูลเพื่อการวัดผลอย่างโปร่งใส ซึ่งภาครัฐเตรียมพร้อมขยายผลสู่ 30,000 โรงเรียนทั่วประเทศ รวมถึงพัฒนาระบบและทดลองจัดเก็บข้อมูลสมุดพกดิจิทัล (Student Report Card) ในโรงเรียนนำร่องคอนเน็กซ์อีดี เพื่อให้นักเรียนรายบุคคลได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างตรงจุด ตามความถนัด
2. กลไกตลาดและวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม (Market Mechanism) ด้วยการเปิดตัวระบบระดมทุนเพื่อการศึกษา (CONNEXT ED Crowdfunding) เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมสนับสนุนการศึกษา โดยตั้งเป้าหมายระดมทุน 4 ล้านบาท (ในระยะที่ 1) ซึ่งมียอดบริจาคแล้วประมาณ 80% พร้อมทั้งสร้างความร่วมมือกับภาครัฐ โดยได้จัดตั้ง 4 คณะทำงานภาครัฐ-เอกชน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานในด้านต่างๆ ประกอบด้วย 1. คณะทำงานโครงการคอนเน็กซ์อีดี ระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 2. คณะกรรมการคัดกรองและติดตามผล Crowdfunding 3. ทีมงานวิจัยภาครัฐเพื่อถอดบทเรียนองค์ความรู้ และ 4. คณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ อีกทั้งได้รับการรับรองจากผลงานวิจัย ทั้งในระดับประเทศ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และระดับเอเชีย จาก Centre for Asia Philanthropy and Society (CAPS) ที่ยกให้ CONNEXT ED เป็นตัวอย่างของประเทศไทยที่แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน และยังนำเสนอเล่มพิมพ์เขียว “ข้อเสนอ 9 แนวทางการพัฒนาตาม 5 ยุทธศาสตร์มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี” ต่อกระทรวงศึกษาธิการอีกด้วย
3. การพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน (High Quality Principals & Teachers) โดยมีโรงเรียนในโครงการกองทุนการศึกษา 143 โรงเรียน เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนคอนเน็กซ์อีดี พร้อมสร้าง ICT Talent รวม 700 คน แบ่งเป็น ภาครัฐ 500 คน และภาคเอกชน 200 คน เพื่อส่งเสริมทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของครูและนักเรียน ในกว่า 2,000 โรงเรียนทั่วประเทศ
4. เด็กเป็นศูนย์กลาง เสริมสร้างคุณธรรมและความมั่นใจ (Child Centric & Curriculum) โดยถอดบทเรียน พร้อมส่งมอบ 17 โมเดลองค์ความรู้จากภาคเอกชนให้แก่ภาครัฐ เพื่อนำไปขยายผลและพัฒนาโรงเรียนทั่วประเทศ พร้อมทั้งรวบรวมองค์ความรู้จากภาคเอกชนและพันธมิตร (Knowledge Sharing Hub) และสร้างคลังฐานข้อมูลบนเว็บไซต์ connexted.org เพื่อให้บุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนกว่า 1 ล้านคนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้
5. การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของสถานศึกษา (Digital Infrastructures) โดยการต่อยอดโครงการคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กเพื่อการศึกษา (Notebook for Education) ที่ได้มอบโน้ตบุ๊ก 5,000 เครื่อง พร้อมหลักสูตรอบรมให้แก่โรงเรียนนำร่อง ใน 17 จังหวัด เข้าสู่การระดมทุนผ่านระบบ Crowdfunding เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์โน้ตบุ๊กให้แก่ครูและนักเรียนในวงกว้างได้มากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี ได้ต่อยอดมาจากโครงการสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์ อีดี ในปี 2559 โดยการผนึกกำลังของ 3 ภาคส่วนหลัก ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน ซึ่ง 12 องค์กรเอกชนชั้นนำของไทย ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ กลุ่มเซ็นทรัล บมจ. ซีพี ออลล์ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร กลุ่มธุรกิจน้ำตาลประเทศไทย พลังงาน และธุรกิจใหม่ กลุ่มมิตรผล กลุ่มปตท. ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เอสซีจี บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ บมจ. ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป และบมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น
ล่าสุด มีเครือข่ายพันธมิตรใหม่เข้าร่วมโครงการอีก 32 องค์กร รวมเป็น 44 องค์กร ได้แก่ บจ. เอ.พี. ฮอนด้า บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น บมจ. บ้านปู บมจ. บีอีซี เวิลด์ บจ. เบอร์แทรม (1958) บมจ. เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) บจ. เอดู พาร์ค โรงเรียนเอ็นคอนเส็ปท์ อี แอคเคเดมี่ บจ. โกลบิช อคาเดเมีย (ไทยแลนด์) บจ. เควี อิเล็กทรอนิกส์ บจ. เลิร์น คอร์ปอเรชั่น บจ. แม็คเอ็ดดูเคชั่น สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ บจ. เอส เค โพลีเมอร์ บจ. สลิงชอท กรุ๊ป บจ. เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม (เทสโก้ โลตัส) บจ. ไทยโตชิบาอุตสาหกรรม และบจ. สวนอุตสาหกรรมบางกะดี บจ. เวสเทิร์น ดิจิตอล (ประเทศไทย) บจ. แอมิตี บมจ. บี.กริม เพาเวอร์ บมจ. ซี.พี.แลนด์ บจ. เจริญโภคภัณฑ์โปรดิวส์ บมจ. เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย บมจ. สยามแม็คโคร บจ. โพรนาลิตี้ บมจ. สมิติเวช กลุ่มธุรกิจ ทีซีพี บมจ. ทิปโก้แอสฟัลท์ และบมจ. วีจีไอ