การขออนุญาตใช้คุกกี้

วันพุธที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2564

การถ่ายทอดสดพิธีมอบรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี พ.ศ. 2564

 ขอเรียนเชิญรับชมการถ่ายทอดสดพิธีมอบรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี พ.ศ. 2564 ให้แก่หน่วยงานของรัฐที่มีผลงานการพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการประชาชน การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภายในองค์กรและเปิดระบบราชการให้ภาคส่วนอื่นเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างโดดเด่น ในวันพฤหัสบดีที่16 กันยายน 2564 เวลา 13.00 น.

สามารถรับชมพร้อมกันที่ 

Youtube : สำนักงาน ก.พ.ร.

Facebook : กพร OPDC 




วันจันทร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2564

ศธ. แถลงจุดยืนลดภาระทางการศึกษา ช่วยเหลือบรรเทา “ครู-นักเรียน-ผู้ปกครอง” ถ้วนหน้า

 



วันที่ 16 สิงหาคม 2564 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในการแถลงข่าว “จุดยืนลดภาระทางการศึกษา” เพื่อชี้แจงแนวทางในการช่วยเหลือนักเรียน ผู้ปกครอง และครู ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามมาตรการลดภาระทางการศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการและรัฐบาล โดยมีผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานด้านการศึกษา อาทิ นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการณ์ เลขาธิการ กสทช. ร่วมชี้แจงมาตรการช่วยเหลือที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องโถงอาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ พร้อมทั้งถ่ายทอดสดผ่านระบบออนไลน์ ให้สาธารณชนได้รับทราบทั่วประเทศ

.
นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. กล่าวว่า ภายใต้ภาวะวิกฤติในปัจจุบัน กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชน รวมถึงผู้เรียนในทุกระดับชั้น ให้ได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมถ้วนหน้า โดยคำนึงถึงการลดภาระค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ปกครองนักเรียน รวมถึงคุณครูที่เป็นด่านหน้าในการจัดการศึกษาให้แก่นักเรียน กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ออกมาตรการลดภาระทางการศึกษา เพื่อเยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนของนักเรียน ครู และผู้ปกครอง ทั่วประเทศ
.
มาตรการที่ 1 การจ่ายเงิน “เยียวยานักเรียน” ทุกคนทุกสังกัด คนละ 2,000 บาท โดยผู้ปกครองรับเงินเต็มจำนวน ต่อนักเรียน 1 คน โดยไม่หักค่าใช้จ่ายใดๆ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา ให้แก่นักเรียนนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในสถานศึกษาสังกัด ศธ. ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงสถานศึกษานอกสังกัด ศธ. อาทิ โรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และโรงเรียนทุกสังกัดที่เปิดสอนการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล-ม.6 และอาชีวศึกษา ซึ่งมีอยู่ราว 11 ล้านคน รวมทั้งสิ้น 22,000 ล้านบาท คาดว่าจะได้รับภายในวันที่ 31 สิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายนนี้
.
มาตรการที่ 2 อินเทอร์เน็ตฟรีสำหรับการเรียน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในการสนับสนุนอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์สำหรับการเรียนออนไลน์ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองที่มีบุตรหลานเป็นนักเรียนในระดับชั้นอนุบาล-มัธยมศึกษา สังกัด สพฐ. รวมถึงนักเรียนนักศึกษาสังกัดอาชีวศึกษา และสังกัด กศน. ที่มีการเรียนการสอนแบบออนไลน์ จำนวน 3.6 ล้านคน รวมมูลค่ากว่า 600 ล้านบาท ในช่วงระหว่างวันที่ 15 สิงหาคมถึง 15 ตุลาคม 2564 (2 เดือน) โดยสนับสนุนใน 2 รูปแบบ คือ แบบที่ 1 ช่วย Top-up แพ็กเกจอินเทอร์เน็ตมือถือให้เบอร์ที่นักเรียนใช้เรียนออนไลน์ ทั้งระบบเติมเงินและรายเดือน สามารถใช้งานแอปพลิเคชันเพื่อการเรียนการสอนได้แบบไม่จำกัด อาทิ Microsoft Teams, Google Meet, ZOOM, Cisco Meeting, WebEx และ Line Chat พร้อมอินเทอร์เน็ตอีก 2GB สำหรับการใช้งานอื่นๆ และแบบที่ 2 ช่วยจ่ายค่าอินเทอร์เน็ตบ้าน โดยหักจากบิลค่าบริการ เดือนละ 79 บาท (ยังไม่รวม VAT) เป็นเวลา 2 เดือน ซึ่งนักเรียนสามารถเลือกรับสิทธิได้อย่างใดอย่างหนึ่ง และรับได้ 1 คนต่อ 1 สิทธิ
.
มาตรการที่ 3 การลดภาระงานครูและนักเรียน โดยให้ครูลดการรายงานและโครงการต่างๆ ให้คงไว้เฉพาะที่จำเป็น ส่วนนอกเหนือจากนี้ให้ชะลอไปก่อนจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น รวมถึงลดการประเมินต่างๆ ทั้งที่เป็นงานของหน่วยงานภายในและภายนอก ให้เหลือ 3 โครงการ หรือ 1% จากเดิมที่มี 72 โครงการ หรือ 32% เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสอนของครูให้มากขึ้น ขณะที่การลดภาระนักเรียน เพื่อให้เด็กได้เรียนในสิ่งที่ต้องเรียนอย่างเต็มที่ ให้ครูและผู้ปกครองร่วมกันส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ โดยให้การบ้านเท่าที่จำเป็น เน้นหลักฐานการเรียนรู้มากกว่าการสอบ เช่น ภาระงาน การบ้าน พฤติกรรมของนักเรียน เป็นต้น รวมถึงการนับเวลาเรียนรูปแบบใหม่ ที่จะนับเวลาเมื่อนักเรียนเกิดการเรียนรู้ เช่น การเรียนออนไลน์ การทำการบ้าน หรือการออกกำลัง ซึ่งการนับเมื่อเกิดการเรียนรู้จะช่วยลดความตึงเครียด ให้ครูและนักเรียนได้จัดการเรียนรู้ในรูปแบบที่หลากหลาย ไม่ต้องเรียนผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนเพียงอย่างเดียว
.
“นอกจากนี้ ต้องมีการปรับเปลี่ยนการใช้งบประมาณต่างๆ โดยเฉพาะงบอุดหนุนรายหัวในบางรายการที่เดิมกำหนดไว้ชัดเจนว่าจะต้องใช้จ่ายในเรื่องนี้เท่านั้น เช่น งบหนังสือจะต้องซื้อหนังสือเท่านั้น ในส่วนนี้ต้องปรับให้มีความยืดหยุ่นเพื่อให้สถานศึกษานำไปลดภาระครูต่อไป ซึ่งการปรับงบประมาณบางรายการต้องขออนุมัติจาก ครม. โดยกระทรวงศึกษาธิการจะเร่งทำเรื่องเสนอให้ ครม. พิจารณาโดยเร็ว ส่วนงบไหนที่กระทรวงฯสามารถปรับแก้ระเบียบเองได้ จะเร่งเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) พิจารณาเห็นชอบโดยเร็ว เพื่อให้ครูมีความยืดหยุ่นในการทำงาน และพัฒนาการเรียนการสอนได้โดยเร็ว” รมว.ศธ. กล่าว
.
ด้านนายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เข้าใจถึงปัญหาและอุปสรรคในการจัดการเรียนการสอนภายใต้สถานการณ์โควิด-19 เป็นอย่างดี ดังนั้นเพื่อให้ครูมีเวลาจัดการเรียนการสอน และมีเวลาดูแลนักเรียนได้อย่างเต็มที่ สพฐ. จึงได้วางแผนจัดทำแนวทางลดภาระครูและนักเรียน พร้อมเสนอให้ รมว.ศธ. พิจารณา ซึ่งได้รับความเห็นชอบเรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้ สพฐ. จะจัดทำแนวปฏิบัติเพื่อลดภาระครูและนักเรียนดังกล่าว ส่งไปยังสถานศึกษาทั่วประเทศต่อไป
.
โดยที่ผ่านมา สพฐ. ได้เข้าไปศึกษาว่าอะไรเป็นสาเหตุหรือเป็นปัจจัยที่ทำให้ครูมีภาระงานจำนวนมาก ซึ่งจากการศึกษาพบว่าหน่วยงานส่วนกลางมีโครงการต่างๆ ลงไปให้โรงเรียนปฏิบัติเป็นจำนวนมาก รวมถึงมีกิจกรรมที่ต้องประเมินและรายงานอีกจำนวนไม่น้อย ดังนั้นเพื่อสร้างความผ่อนคลาย และทำให้ครูไม่เครียดกับการรายงาน หรือภาระงานอื่น ๆ และมามุ่งเน้นที่การสอนเป็นหลัก จึงได้ให้ชะลอการดำเนินกิจกรรม โครงการ หรือการประเมินต่างๆ ออกไป เพื่อให้ครูได้ทำการสอนอย่างเต็มที่ จึงขอให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และผู้บริหารโรงเรียน นำนโยบายดังกล่าวไปปฏิบัติตามด้วย
.
“สำหรับแนวปฏิบัติในการจัดการเรียนการสอนและการวัดประเมินผลเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 นั้น จะเน้นที่การสอนวิชาหลัก ส่วนวิชาอื่นให้บูรณาการร่วมกัน ในส่วนตัวชี้วัดก็เปลี่ยนให้ครูเน้นการสอน ตัวชี้วัดต้องรู้และบูรณาการให้เข้ากับวิถีชีวิตของนักเรียน รวมถึงบทบาทของครูต้องเปลี่ยน โดยครูกับผู้ปกครองจะร่วมกันส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ให้นักเรียน ส่วนการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ให้เน้นหลักฐานการเรียนรู้มากกว่าการสอน คาดว่าแนวปฏิบัตินี้จะช่วยลดความเครียดให้ครู นักเรียน และผู้ปกครองได้” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
.
ทั้งนี้ ในระหว่างการแถลงข่าว ได้รับเกียรติจากนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ถ่ายทอดสัญญาณผ่านระบบออนไลน์เข้ามาร่วมในพิธี โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือผู้ปกครองในภาวะวิกฤติ และส่งเสริมให้นักเรียนนักศึกษาได้รับการเรียนรู้อย่างเต็มที่ตามศักยภาพ โดยฝากให้ รมว.ศธ. เร่งมอบเงินให้ถึงมือผู้ปกครองโดยเร็ว และขอบคุณกระทรวงศึกษาธิการที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างดี พร้อมทั้งกล่าวชื่นชมการประสานงานระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ กับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ร่วมมือร่วมใจกันทำให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เรียนได้อย่างแท้จริง
.
คลิกชมคลิป รมว.ศธ. ให้สัมภาษณ์ งานแถลงข่าว “จุดยืนลดภาระทางการศึกษา”
.
คลิกชมคลิป เลขาธิการ กพฐ. ให้สัมภาษณ์ งานแถลงข่าว “จุดยืนลดภาระทางการศึกษา”

วันพฤหัสบดีที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

รองเลขาธิการ กพฐ. บรรยายพิเศษ นโยบาย “ปรับบ้านเป็นห้องเรียน เปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู”

                


นายกวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานเปิดการประชุมและบรรยายพิเศษ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (Covid-19) ตามนโยบาย “ปรับบ้านเป็นห้องเรียน เปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู” ของ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต 2 ผ่านระบบการประชุมทางไกล จาก อาคาร สพฐ.1 ชั้น 3 ไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต 2 โดย การประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษา และการจัดการเรียนการสอนขอครู เพื่อส่งเสริมคุณภาพผู้เรียน ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (Covid-19) ตามนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ภาพ /ข่าว : ว่าที่ ร.อ.ศศวรรธน์ ขรรค์ทัพไทย

วันพุธที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

รองเลขาธิการ กพฐ. แถลงข่าวโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา ประจําปี 2564 มหกรรมสื่อรักให้พักเหล้า ลดเสี่ยง เลี่ยงโควิด ผ่านระบบออนไลน์





ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานการแถลงข่าวโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา ประจําปี 2564 มหกรรมสื่อรักให้พักเหล้า ลดเสี่ยง เลี่ยงโควิด โดยมี ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อํานวยการสํานักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) เครือข่ายงดเหล้าจากเขตพื้นที่การศึกษา และครูผู้เข้าร่วมโครงการฯ เข้าร่วม ผ่านระบบ Zoom Meeting

.

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา (รองเลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า จากการดำเนินโครงการโพธิสัตว์น้อยลูกขอพ่อแม่เลิกเหล้า โดยความร่วมมือกัน ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สํานักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันนั้น ทําให้สังคมเห็น และตระหนักแล้วว่า เด็ก ๆ คือผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่ง สพฐ. ได้เล็งเห็นปัญหาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่มีผลเสียต่อการศึกษาไทย โดยทำให้เด็ก ๆ ที่เป็นเด็กนักเรียนขาดความพร้อมในการเรียนรู้ โดยหากมีคนในครอบครัวดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะทำให้เด็กนักเรียน หรือ ลูก ๆ ขาดความอบอุ่นจากพ่อแม่ เกิดปัญหาเศรษฐกิจ ความขัดแย้ง ความรุนแรง และปัญหาสุขภาพของคนในครอบครัวตามมา ซึ่งเป็นปัญหาที่กระทบต่อการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนทั้งสิ้น

.

ทั้งนี้ โครงการฯ สามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยทําให้เด็กนักเรียน หรือ ลูก ๆ ที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบ กลายมาเป็นผู้ทําให้ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ลด เลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งกระบวนการที่เด็กนักเรียนได้เรียนรู้จากโครงการฯ นั้น ทําให้เกิดความตระหนักในพิษภัยการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยังได้ลงมือปฏิบัติจริง ทําให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง ลด เลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ สามารถสร้างความอบอุ่นในครอบครัว รวมถึงสร้างความภาคภูมิใจในตนเองหรือ Self esteem ให้แก่เด็กนักเรียน ซึ่งจะเป็นภูมิคุ้มกันให้กับเด็ก ๆ ในระยะยาวต่อไป

.

สพฐ. ยินดีให้ความร่วมมือกับโครงการฯ อย่างต่อเนื่อง และในปีนี้ สพฐ. จะส่งเสริม สนับสนุนให้โรงเรียนในสังกัดทั่วประเทศ ร่วมขับเคลื่อนโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา “สื่อรัก ให้พักเหล้า” หยุดเสี่ยง เลี่ยงโควิด และขอเชิญชวนบุคลากรทางการศึกษาทุกท่าน ร่วมรณรงค์ และงดเหล้าเข้าพรรษา หรือเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตลอดไป เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีต่อสังคม และเป็นการช่วยลดปัจจัยเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อีกด้วย” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

 


วันพฤหัสบดีที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

สพฐ. จับมือสมาคมกีฬา คาราเต้-ลอนเทนนิส ร่วมพัฒนาทักษะกีฬาในโรงเรียน

  




นายกวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือในการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ทางด้านกีฬาเพื่อความเป็นเลิศในโรงเรียน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กับ สมาคมกีฬาคาราเต้แห่งประเทศไทย และ สมาคมกีฬาลอนเทนนิสแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อพัฒนาทักษะกีฬาคาราเต้โด และกีฬาเทนนิสให้แก่นักเรียน ให้สามารถพัฒนาสู่ความเป็นเลิศทางด้านกีฬาได้ โดยมี พลเอกสุรชาติ จิตต์แจ้ง นายกสมาคมกีฬาคาราเต้แห่งประเทศไทย และนายภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา อุปนายกสมาคมกีฬาลอนเทนนิสแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงาน ร่วมลงนามและเป็นสักขีพยานในพิธี ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 กระทรวงศึกษาธิการ

นายกวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อตอบสนองนโยบายด้านคุณภาพ ในจุดเน้นที่สาม “หนึ่งดนตรี หนึ่งกีฬา หนึ่งอาชีพ เลือกได้ตามความถนัดและความสนใจของผู้เรียน” จึงได้แสวงหาความร่วมมือและสนับสนุนให้มีการดำเนินการภายใต้บันทึกความเข้าใจ ความร่วมมือในการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ทางด้านกีฬาเพื่อความเป็นเลิศในโรงเรียน กับสมาคมกีฬาคาราเต้แห่งประเทศไทย และสมาคมกีฬาลอนเทนนิสแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้จัดให้มีพิธีลงนามดังกล่าวขึ้น เพื่อช่วยให้นักเรียนที่มีความสนใจในกีฬาทั้ง 2 ชนิดนี้ หันมาเล่นกีฬาในเวลาว่างเพื่อให้มีสุขภาพที่ดี แข็งแรงและพัฒนาความสามารถด้านกีฬาให้ดียิ่งขึ้น หากได้รับการสนับสนุนให้ฝึกฝนจนมีความสามารถในการแข่งขันก็จะสามารถสร้างชื่อเสียงให้แก่สถาบันหรือประเทศชาติได้

วันพฤหัสบดีที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ศธ. ย้ำ เปิดภาคเรียน ‘14 มิ.ย.’ ไม่บังคับให้มา รร.

 


กระทรวงศึกษาธิการ ยืนยัน เปิดเรียนตามกำหนดการเดิม 14 มิ.ย. เน้นย้ำ รร. ต้องเลือกรูปแบบการสอนที่ปลอดภัย ไม่บังคับว่าต้องมาจัดการเรียนในสถานที่ของ รร.

.

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า การเปิดภาคเรียนที่ ปีการศึกษา 2564 ของสถานศึกษาทุกแห่งในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการยังคงเป็นไปตามกำหนดการเดิมในวันที่ 14 มิ.ย. 64 โดยสถานศึกษาสามารถจัดการเรียนการสอนได้หลายรูปแบบตามแนวทางที่กระทรวงฯ ได้เคยประกาศไป รูปแบบ ได้แก่ ON-SITE, ONLINE, ON-AIR, ON-DEMAND และ ON-HAND ทั้งนี้ สถานศึกษาแต่ละแห่งจะใช้การจัดการเรียนการสอนในรูปแบบใดนั้น ต้องขึ้นอยู่กับความปลอดภัยของผู้เรียนและผู้สอนเป็นสำคัญ ซึ่งสถานศึกษาจะต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และหากสถานศึกษาใดต้องการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ ON-SITE หรือเป็นการเรียนที่โรงเรียน จะต้องได้รับการอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวังในพื้นที่นั้น ๆ

.

นางสาวตรีนุช เทียนทอง เน้นย้ำอีกว่า อยากให้สังคมเข้าใจตรงกันว่าการเปิดเทอมไม่ได้มีเพียงการจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษา (ON-SITE) เท่านั้น แต่สถานศึกษาสามารถจัดการเรียนการสอนในรูปแบบอื่น ๆ ได้ตามความเหมาะสม ซึ่งจะถือเป็นการนับชั่วโมงการเรียนการสอนด้วย ทั้งนี้ สถานศึกษาสามารถจัดให้มีการผสมผสานรูปแบบการเรียนการสอนมากกว่า รูปแบบได้

.

ทั้งนี้ การเปิดเรียนในสถานศึกษา เขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาต้องตัดสินใจให้เหมาะสมกับแต่ละบริบทของแต่ละพื้นที่ เพราะความเสี่ยงในการแพร่ระบาดฯ ไม่ได้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ หากพื้นที่ไหนสามารถจัดการเรียนการสอนตามปกติได้ ก็ไม่ควรจำกัดสิทธิ์หรือลดโอกาสในการเรียนรู้ของเด็ก แต่ถ้าพื้นที่ใดมีความเสี่ยง หากต้องจัดการเรียนการสอนขึ้น จะต้องมีการเลือกรูปแบบที่มีความปลอดภัยให้แก่ทั้งผู้เรียนและผู้สอนอย่างสูงสุด

 


สพฐ. แจงการสอนออนไลน์ ย้ำต้องเลือกการสอนที่เหมาะกับนักเรียน

 



 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ชี้แจงกรณีที่มีเพจเฟซบุ๊กแห่งหนึ่งลงข้อความว่ามีคุณครูให้ผู้ปกครองถ่ายภาพเด็กขณะเรียนออนไลน์ โดยต้องเป็นภาพที่เด็กเรียนออนไลน์ผ่านทางโทรทัศน์เท่านั้น ขณะที่ผู้ปกครองแจ้งว่าเด็กสะดวกเรียนออนไลน์ผ่านยูทูบมากกว่า เพราะเนื้อหาการเรียนแบบเดียวกัน แต่สามารถกดหยุดได้หากนักเรียนตามไม่ทันหรือไม่เข้าใจ และผู้ปกครองสามารถสอนลูกควบคู่ไปด้วยกันได้ ทำให้สื่อสังคมออนไลน์แสดงความคิดเห็นในเชิงวิจารณ์ถึงความไม่ยืดหยุ่นของนโยบายการจัดการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)


นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID–19) ทำให้โรงเรียนส่วนใหญ่ไม่สามารถเปิดการจัดการเรียนการสอนแบบปกติที่โรงเรียน (On Site) ได้ ทาง สพฐ. จึงกำหนดรูปแบบการจัดการเรียนการสอนทางไกล ประกอบด้วย เรียนผ่านระบบโทรทัศน์ (On-Air) เรียนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (On-Demand) เรียนแบบถ่ายทอดสด (Online) เรียนด้วยการนำส่งเอกสารที่บ้าน (On-Hand) และการจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสานหลายรูปแบบ โดยมีหนังสือราชการและการประชุมชี้แจงกับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการสถานศึกษา ครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ให้โรงเรียนและผู้ปกครองร่วมกันพิจารณาเลือกรูปแบบการจัดการเรียนการสอนทางไกล ให้เหมาะสมกับนักเรียน โดยพิจารณาจากความพร้อมของอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการเรียนการสอน และประสิทธิภาพของสัญญาณอินเทอร์เน็ตสำหรับครูและนักเรียน เพื่อเป็นการลดภาระที่เกินความจำเป็น หรือก่อให้เกิดความสิ้นเปลืองของค่าใช้จ่ายที่อาจเพิ่มขึ้นได้ 


ขณะที่การประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียน ได้มอบหมายให้ครูและผู้ปกครองร่วมกันกำหนดแนวทางในการประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียน และมีเครื่องมือการวัดผล ประเมินผลที่สร้างขึ้นตามบริบทของนักเรียนเป็นรายบุคคล ซึ่งเป็นแนวทางการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ภาคเรียนที่ 1/2564 ของ สพฐ. ที่ได้แจ้งให้โรงเรียนรับทราบ 


นายอัมพร กล่าวต่อไปว่า สำหรับเหตุการณ์ที่ครูใช้การประเมินด้วยภาพถ่ายการเรียนออนไลน์ผ่านทางโทรทัศน์ DLTV นั้น เป็นวิธีการส่วนบุคคลของครูแต่ละท่าน โดยเปิดโอกาสให้ประเมินในรูปแบบที่หลากหลายตามบริบทของแต่ละโรงเรียน ซึ่ง สพฐ.ได้แจ้งให้สำนักงานเขตพื้นที่ฯติดตามหาสาเหตุของการรายงานดังกล่าว


 “ทั้งนี้ จากกรณีดังกล่าว ได้ชี้แจงและสร้างความเข้าใจในการประชุม Video Conference กับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษาทั่วประเทศ ครั้งที่ 2/2564 แล้ว” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

วันพุธที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2564

เสมา 1 มอบนโยบายการจัดการศึกษา ในการประชุมผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ ครั้งที่ 2/2564


วันที่ 9 มิถุนายน 2564 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ครั้งที่ 2/2564 โดยการประชุมทางไกล เพื่อมอบนโยบายการจัดการศึกษาเร่งด่วน (Quick Win) ที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยมีนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) พร้อมด้วยผู้บริหารของ สพฐ. ร่วมชี้แจงแนวทางการจัดการเรียนการสอนภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พร้อมทั้งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมทางไกล ถ่ายทอดสดจากห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ

.
นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. กล่าวว่า วันนี้ได้มาพบกับผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ตนขอฝากในเรื่องของการจัดการเรียนการสอน 5 รูปแบบ เนื่องจากแต่ละโรงเรียนมีความหลากหลายเป็นอย่างมาก จึงขอเน้นในเรื่องของการยืดหยุ่น การปรับการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับบริบทและพื้นที่ เพื่อให้เป็นการเรียนที่นักเรียนได้ประโยชน์สูงสุด ขณะนี้ตนได้พูดคุยกับผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการว่า ในการจัดการเรียนการสอนทั้ง 5 รูปแบบนี้ เราจะสามารถดำเนินการให้มีคุณภาพและจับต้องได้อย่างไร ที่จะทำให้ผู้เรียนได้รับความรู้ในส่วนของทั้งองค์ความรู้และทักษะชีวิต เนื่องจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปทำให้เด็กไม่สามารถเรียนในรูปแบบปกติได้ อาจทำให้ไม่สามารถเรียนรู้องค์ความรู้ได้ทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ ในส่วนนี้ก็จะไปเชื่อมโยงกับการจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนกระบวนการปรับเพื่อให้พร้อมใช้ในปีการศึกษา 2565 โดยในหลักสูตรฐานสมรรถนะจะมีเรื่องของการเรียนแบบ Active Learning ที่จะเชื่อมโยงกับทักษะชีวิต ซึ่งในโรงเรียนหลายแห่งมีพื้นที่การเกษตรก็จะได้ทำในส่วนนี้อยู่แล้ว คุณครูสามารถนำกิจกรรมเหล่านี้มาเชื่อมโยงกับการสอนได้ เช่น คุณครูอาจจะนำสถานการณ์โควิด-19 เข้ามาเชื่อมโยงให้เด็กเขียนเรียงความ หรือเล่าเรื่องราวว่าชีวิตของเขาเปลี่ยนไปอย่างไร เด็กได้เรียนรู้อะไรจากสถานการณ์เหล่านี้ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปกลุ่มสาระวิชาต่างๆ เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สุขศึกษา เป็นต้น 
.
ในเรื่องของวัคซีน เนื่องจากคุณครูเป็นบุคลากรที่สำคัญและมีความใกล้ชิดกับนักเรียน ที่ผ่านมาทางกระทรวงฯก็ได้มีการพูดคุยกันตลอดและได้เรียนนายกรัฐมนตรีให้ทราบ ทางนายกฯเองก็ได้ให้การฉีดวัคซีนกับครู เป็นเรื่องสำคัญเป็นอันดับแรกๆ แต่เนื่องจากจำนวนวัคซีนที่คลาดเคลื่อนจากกำหนด กระทรวงฯจึงได้มีการปรับแผนเพื่อให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยเร่งฉีดในพื้นที่สีเข้มก่อน แล้วจึงทยอยฉีดต่อไปจนครบทุกพื้นที่ ส่วนเรื่องของความปลอดภัยในสถานศึกษา เราให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของทั้งครูและนักเรียน แต่เนื่องจากขณะนี้อยู่ในสถานการณ์โควิด-19 เราจึงจะเน้นในเรื่องความปลอดภัยทางด้านโควิด-19 ก่อนเป็นอันดับแรก โดยดำเนินการตามมาตรการของ ศบค. โดยเฉพาะโรงเรียนที่จะต้องเปิดเรียนแบบ On Site ขอให้ผอ.เขตทุกพื้นที่ได้กำชับกับทางโรงเรียน ให้ดำเนินการตามมาตรการของ ศบค. อย่างเคร่งครัด สิ่งนี้ก็จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ปกครองได้ เช่นเดียวกับเรื่องของการลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ปกครอง ในสถานการณ์เช่นนี้ทางกระทรวงฯมีความเข้าใจ และอยากจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยแบ่งเบาภาระให้ผู้ปกครองได้
.
รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า เนื่องจากว่าเราจะยังคงต้องอยู่กับโควิด-19 ต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง ขอให้ทุกคนเตรียมความพร้อมในเรื่องของการจัดการเรียนรู้แบบต่างๆ ให้มีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ ตนขอเป็นกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติงานทุกคน ทั้งคุณครู บุคลากร ผู้บริหารโรงเรียน รวมถึงสำนักงานเขตพื้นที่ฯ ที่ต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายเรื่องและอุปสรรคต่างๆ ที่จะต้องเกิดขึ้น สิ่งสำคัญคือต้องมีความยืดหยุ่นตามบริบทและพื้นที่ ต้องไม่ตึงหรือเข้มงวดจนเกินไป เพื่อให้เด็กและผู้ปกครองได้เกิดการเรียนรู้แบบ New Normal โดยไม่เครียดจนเกินไป ขอให้แต่ละสำนักงานเขตฯพิจารณาให้เหมาะสมกับพื้นที่ของตนเอง เพราะสุดท้ายแล้วไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ในรูปแบบใดก็ตาม สิ่งสำคัญคือเด็กต้องมีความสุข เพราะหากเด็กไม่มีความสุขแล้ว ก็ถือว่ายังไม่ตอบโจทย์การเรียนรู้ได้อย่างแท้จริง
.
“ในช่วงเวลาแบบนี้เราต้องช่วยกันคิดว่าจะทำให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างไร เพราะทุกคนคือฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยกันขับเคลื่อนการศึกษาต่อไปได้ ซึ่งเด็กคืออนาคตของชาติ หากเราขาดความร่วมมือร่วมใจกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์เช่นนี้ เราก็คงไม่อาจก้าวข้ามอุปสรรคไปด้วยกันได้ ในส่วนนี้กระทรวงฯพยายามจะช่วยเหลือทุกอย่างเท่าที่ทำได้ หากมีประเด็นอะไรที่ต้องการจะทำหรือไม่เข้าใจแนวคิดในด้านไหน ทางกระทรวงฯเองยินดีที่จะช่วยกันสนับสนุน เพื่อให้เกิดการพัฒนาร่วมกันต่อไปได้” รมว.ศธ. กล่าว
.
ทั้งนี้ หลังจาก รมว.ศธ. ได้มอบนโยบายในภาพรวมของกระทรวงฯแล้ว ผู้บริหารของ สพฐ. จึงได้ร่วมชี้แจงแนวทางการจัดการศึกษาในประเด็นต่างๆ อาทิ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. ได้ชี้แจงในประเด็นการจัดการเรียนการสอนภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ตัวชี้วัดและเป้าหมายการดำเนินงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา นโยบายเร่งด่วนการจัดการศึกษา และการขับเคลื่อนโรงเรียนคุณภาพชุมชน นายกวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการ กพฐ. ชี้แจงเรื่องการออกอากาศช่องทีวีดิจิทัลเพื่อการศึกษา ชุดสื่อ 60 และ 65 พรรษาเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โครงการโรงเรียนร่วมทดลองการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ผ่านระบบคอนเฟอเรนซ์ โครงการทดลองเรียนภาษาต่างประเทศโดยใช้รูปแบบการสื่อสารสองทางจากครูชาวต่างชาติและครูไทยที่มีวิธีการสอนที่เป็นเลิศ ระดับมัธยมศึกษา โครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ ทิศทางการบริหารงานบุคคลของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย รวมถึงแนวปฏิบัติการนับเวลาเรียน การสอนชดเชย การจัดทำเอกสารหลักฐานการศึกษา ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 และการพัฒนาสมรรถนะการอ่านขั้นสูง ตามนโยบาย”เด็กไทยวิถีใหม่ อ่านออก เขียนได้ทุกคน” เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันระดับนานาชาติ นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการ กพฐ. เรื่องการเปิดภาคเรียน การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์/การรายงานการตรวจสอบข่าวปลอม และระบบ e-Saraban ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการ กพฐ. เรื่องการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ ปี 2564 การรายงานข้อมูลจำนวนนักเรียนประจำพักนอน ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 รวมถึงโครงการอารยเกษตร สืบสาน รักษา ต่อยอด ตามแนวทางพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงด้วย โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง สร้างความเข้าใจและชี้แจงแนวทางการบริหารจัดการโครงการโรงเรียนขนาดเล็ก การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ITA Online ปี 2564) และพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และนายนิพนธ์ ก้องเวหา ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. เรื่องการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา และการสอบแข่งขันฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัด สพฐ. ปี พ.ศ. 2564

วันอังคารที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2564

สพฐ. พร้อมใจจัดกิจกรรมจิตอาสาในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ‘พระราชินี’

               


 วันที่ 8 มิถุนายน 2564 นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการ เป็นประธานในการจัดกิจกรรมจิตอาสาบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ “มีแล้วแบ่งปัน” เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสทิดาพัชรสุธาพิมลลักษณ์ พระบรมราชินี 3 มิถุนายน 2564 โดยมีข้าราชการ และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เข้าร่วมกิจกรรมจิตอาสา ณ ชุมชนวัดประดิษฐาราม เขตธนบุรี กรุงเทพฯ

วันจันทร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

อยากเรียน อยากรู้ อยากดู อยากทำ อยากสอน อยากแชร์" ได้แล้ววันนี้ผ่าน www.ครูพร้อม.com

 ขอเชิญ ครู นักเรียน บุคลากรทางการศึกษา และประชาชนทั่วไป เข้าชมพื้นที่แห่งการเรียนรู้ในโลกออนไลน์ที่รวมบทเรียน สื่อ และกิจกรรมส่งเสริมการเรียนการสอน "อยากเรียน อยากรู้ อยากดู อยากทำ อยากสอน อยากแชร์" ได้แล้ววันนี้ผ่าน www.ครูพร้อม.com




วันศุกร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

สพฐ. ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์โควิด ย้ำคำนึงถึงความพร้อมและความปลอดภัยนักเรียน

 วันที่ 13 พฤษภาคม 2564 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานในการประชุมเพื่อหารือการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ณ ห้องประชุม อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ โดยมี นายกวินทร์เกียรติ นนธ์พละ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมด้วย นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการ ผู้บริหารระดับสูง สพฐ. และบุคลากร สพฐ. เข้าร่วมประชุม

นายอัมพร พินะสา กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการมอบหมายงาน รวมถึงการหารือเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยเน้นย้ำให้คำนึงถึงความปลอดภัยของนักเรียนเป็นหลัก และการจัดการเรียนการสอน 5 รูปแบบ ให้ใช้เป็นทางเลือกในการจัดการเรียนการสอนตามความพร้อมและความสมัครใจของนักเรียน และหารือถึงการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนซึ่งจะมีกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ผ่านสื่อการเรียนรู้ต่างๆ ระบบออนไลน์ นักเรียนสามารถเลือกรับชมผ่านช่องทาง OBEC Channel / Facebook live / Youtube live ตามความสมัครใจโดยไม่นำผลการเรียนมาใช้ในการประเมิน นอกจากนี้ สพฐ. ดำเนินการแจ้งหนังสือราชการแนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ เช่น 1. คู่มือดูแลตัวเองสำหรับประชาชน 2. ประกาศ สพฐ. เรื่องมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ของบุคลากรในสังกัด สพฐ 3. ระบบประเมินตนเองก่อนเปิดภาคเรียน (TSC) ของสถานศึกษา 4. มาตรการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนและแนวปฏิบัติสำหรับสถานศึกษาระหว่างเปิดภาคเรียน (กรณีสถานศึกษาจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียน : On-Site) 5. แบบฟอร์มรายงานการติดเชื้อไวรัส COVID-19 สพฐ. ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ และเพื่อรายงานสถานการณ์มายัง สพฐ. ต่อไป

วันพุธที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

สพฐ. ลงพื้นที่เตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน รร.วัดดอนยายหอม และรร.วัดรางปลาหมอ สังกัด สพป.นครปฐม เขต 1

     วันที่ 8 พฤษภาคม 2564 นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ ผู้อำนวยการ สำนักอำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ผอ.สอ.สพฐ.) พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการเปิดภาคเรียน ปีการศึกษา 2564 โดยมีนายมติชน มูลสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา นครปฐม เขต 1 (ผอ.สพป.นครปฐม เขต 1) พร้อมด้วย นายมิน ประจวบวัน นางสาวณัฏฐิกา ลิ้มเฉลิม นางอนุนาถ ชื่นจิตร์ (รองผอ.สพป.นครปฐม เขต 1) ร่วมให้การต้อนรับ ณ โรงเรียนวัดดอนยายหอม และโรงเรียนวัดรางปลาหมอ สังกัด สพป.นครปฐม เขต 1 จังหวัดนครปฐม

สำหรับการลงพื้นที่ครั้งนี้ นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ (ผอ.สอ.สพฐ.) พร้อมคณะ ได้มอบสิ่งของให้แก่ทั้ง 2 โรงเรียน อาทิ แอลกอฮอล์เจล หน้ากากอนามัย เครื่องดื่มวิตามินซี เพื่อใช้สนับสนุนในการป้องกันและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับครูและนักเรียน ในช่วงโควิด-19 โดยกล่าวเน้นย้ำว่า ขอให้ทุกท่าน ให้ความสำคัญ และปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน โควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข โดยการสวมหน้ากากอนามัย วัดอุณหภูมิ หมั่นล้างมือ และเว้นระยะห่าง อย่างเคร่งครัด

ขอขอบคุณ ข้อมูลและภาพจาก คุณเบญญพัฒน์ สุอมรา ประชาสัมพันธ์ สพป.นครปฐม เขต 1.




วันพุธที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

สพฐ. ฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อภายในอาคารและนอกอาคารในพื้นที่ปฏิบัติงาน สพฐ. ส่วนกลาง

 วันที่ 4 พฤษภาคม 2564 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) มอบหมายให้สำนักอำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สอ.สพฐ.) นำโดย นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการ พร้อมด้วยบุคลากรของสำนักอำนวยการ ร่วมดำเนินการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อภายในอาคารและนอกอาคารในพื้นที่ปฏิบัติงาน สพฐ. ส่วนกลาง เพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมจํากัดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตามมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนที่เข้ามาติดต่อราชการ และบุคลากร ในการเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ ณ สพฐ. ส่วนกลางอีกด้วย





สพฐ. จับมือ 62 ผอ.สพม. สร้างความเข้มแข็งพี่เลี้ยง ยกระดับมาตรฐานการศึกษา เตรียมพร้อมผู้เรียนสู่การประเมินนานาชาติ

                                    ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในการประชุ...