วันอังคารที่ 30 มิถุนายน 2563 นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) พร้อมด้วย นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายพรชัย โพคันโย ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต 1 และหัวหน้าส่วนการศึกษาในจังหวัดอุดรธานี ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ณ โรงเรียนอนุบาลอุดรธานี โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล โรงเรียนอุดรพัฒนาการ และโรงเรียนบ้านเลี่ยมพิลึก โดยตรวจเยี่ยมการดำเนินงานด้านความปลอดภัยในการเปิดสถานศึกษาตาม 6 มาตรการหลักของกระทรวงสาธารณสุข คือ 1) มาตรการคัดกรองวัดไข้และอาการเสี่ยงก่อนเข้าสถานศึกษา 2) สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาเมื่ออยู่ในสถานศึกษา 3) ให้มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์อย่างเพียงพอ 4) จัดให้มีการเว้นระยะห่าง 5) ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสที่มีการใช้ร่วมกันบ่อย และ 6) ลดความแออัดไม่จัดกิจกรรมที่มีการสัมผัสร่วมกัน อีกทั้งได้ตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอน โรงอาหาร และติดตามการจัดทำอ่างล้างมือบริเวณหน้าโรงเรียนและในโรงเรียนตามนโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี
จากนั้นเลขาธิการ กพฐ. และ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ได้เดินทางไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต 1 เพื่อร่วมประชุมสรุปภาพรวมและมอบนโยบายการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน ผ่านระบบ Video Conference โดยมี นายวันชัย จันทร์พร รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในกลุ่มพื้นที่การบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประจำเขตตรวจราชการที่ 10 (Cluster 10) 15 เขต ครอบคลุม 5 จังหวัด (อุดรธานี เลย หนองบัวลำภู หนองคาย และบึงกาฬ) หัวหน้าส่วนการศึกษาในจังหวัดอุดรธานี หัวหน้าส่วนที่เกี่ยวข้องในจังหวัดอุดรธานี ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ และบุคลากรทางการศึกษา เข้าร่วมการประชุม พร้อมทั้งถ่ายทอดสดไปยังโรงเรียนและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในกลุ่มพื้นที่การบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประจำเขตตรวจราชการที่ 10 ให้ได้รับชมพร้อมกันอีกด้วย
นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนในจังหวัดอุดรธานีวันนี้ พบว่าแต่ละโรงเรียนสามารถเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนได้เป็นอย่างดี มีจุดคัดกรองวัดอุณหภูมิ อ่างล้างมือ และเจลแอลกอฮอล์ จัดไว้ที่บริเวณหน้าโรงเรียนและในโรงเรียน พร้อมปฏิบัติตามหลัก 6 มาตรการของกรมอนามัยเป็นอย่างดี ส่วนการจัดห้องเรียนก็จัดไม่เกิน 25 คนต่อห้อง และมีระยะห่างไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร
“โดยภาพรวมของทั้งประเทศนั้น มีโรงเรียนที่สามารถเปิดเรียนได้ 29,147 โรง แบ่งเป็นจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียน(onsite)จำนวน 23,833 โรง และจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน(onsite+online)จำนวน 5,814 โรง ในส่วนที่ผู้ปกครองมีความกังวลใจในการส่งบุตรหลานมาเรียนก็ได้ให้โรงเรียนทำความเข้าใจและปฏิบัติตามมาตรการของกรมอนามัยอย่างเคร่งครัดแล้ว” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
ทั้งนี้ โดยสรุปภาพรวมการประเมินความพร้อมและรูปแบบการจัดการเรียนการสอนของเขตพื้นที่การศึกษาในเขตตรวจราชการที่ 10 นั้น สำหรับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานีเขต 1 มีโรงเรียนในสังกัดทั้งสิ้น 220 โรงเรียน ผลการประเมินตนเองของโรงเรียนในการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนในระดับสีเขียว 188 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 85.45 ระดับสีเหลือง 32 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 14.55 และไม่มีผลประเมินในระดับสีแดง มีการจัดการเรียนการสอนใน 2 รูปแบบ คือ จัดการเรียนการสอนแบบปกติร้อยละ 90.91 และจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสานร้อยละ 9.09 และมีอ่างล้างมือในโรงเรียนรวมทั้งสิ้น 2,421 อ่าง
สำหรับภาพรวมระดับจังหวัด เขตพื้นที่การศึกษาในจังหวัดอุดรธานีมี 5 เขต ประกอบด้วย สพป.อุดรธานี เขต 1–4 และสพม. เขต 20 มีโรงเรียนในสังกัดทั้งสิ้น 823 โรงเรียน มีผลการประเมินตนเองในระดับสีเขียว 754 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 91.62 ระดับสีเหลือง 69 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 8.38 และไม่มีโรงเรียนที่มีผลการประเมินระดับสีแดง มีรูปแบบการจัดการเรียนการสอน 2 รูปแบบ คือ จัดการเรียนการสอนแบบปกติร้อยละ 85.66 และจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสานร้อยละ 14.34 และมีอ่างล้างมือรวมทั้งสิ้น 8,730 อ่าง
ขณะที่กลุ่มพื้นที่การบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประจำเขตตรวจราชการที่ 10 (Cluster 10) มีโรงเรียนในสังกัดทั้งสิ้น 2,137 โรงเรียน ผลการประเมินตนเองของโรงเรียนในการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนในระดับสีเขียว 1,998 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 93.50 ระดับสีเหลือง 139 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 6.50 และไม่มีโรงเรียนที่มีผลการประเมินระดับสีแดง มีการจัดการเรียนการสอนใน 2 รูปแบบ คือ จัดการเรียนการสอนแบบปกติร้อยละ 88.07 และจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสานร้อยละ 11.93
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในเขตตรวจราชการที่ 10 มีการดำเนินงานจัดการเรียนการสอนภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 โดยกำหนดกิจกรรมแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การเตรียมความพร้อม โดยตั้งศูนย์เฉพาะกิจการเรียนการสอน สร้างความรู้ความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคน สำรวจความพร้อมการเข้าถึงการรับชมของนักเรียนและผู้ปกครอง และพัฒนาครูและบุคลากรสำหรับการเรียนการสอนทางไกล ระยะที่ 2 ทดลองจัดการเรียนการสอนโดยใช้การศึกษาทางไกล โดยให้นักเรียนทุกระดับเรียนผ่านระบบ DLTV ระบบ Online และมีคณะกรรมการออกติดตามการเรียนการสอนที่บ้านนักเรียน พร้อมทั้งรวบรวมข้อมูลสภาพความพร้อมในการจัดการเรียนการสอน เพื่อเป็นแนวทางการปรับปรุงพัฒนา รวมทั้งกำหนดรูปแบบในการจัดการเรียนการสอนตาม 6 มาตรการหลักในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในสถานศึกษา และระยะที่ 3 การจัดการเรียนการสอน โดยดำเนินการจัดการเรียนการสอนตามรูปแบบที่โรงเรียนกำหนด พร้อมทั้งประเมินผลการจัดการเรียนการสอนเพื่อเป็นข้อมูลและแนวทางในการปรับปรุงพัฒนาในการจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพต่อไป