การขออนุญาตใช้คุกกี้

วันพฤหัสบดีที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2560

สพฐ. แจงผลการวิจัยยูนิเซฟ-ม.มหิดล ประเด็นเพศวิถีศึกษา




                 (วันที่ 1 มิถุนายน 2560) จากการที่สื่อออนไลน์ได้เผยแพร่ข่าวผลการวิจัยเรื่องการสอนเพศวิถีศึกษาในสถานศึกษาของไทย ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมมือกับองค์การยูนิเซฟ และมหาวิทยาลัยมหิดล โดยสำรวจข้อมูลจากนักเรียนมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา จำนวน 8,837 คน และครู 692 คน รวมทั้งสิ้น 9,529 คน ในช่วงเดือนกันยายน 2558 ถึงเดือนมีนาคม 2559 ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การสอนเพศศึกษาไม่ให้ความสำคัญเรื่องการเคารพสิทธิของผู้อื่น ส่งผลนักเรียนจำนวนมากมีทัศนคติเชิงลบ ไม่เห็นด้วยกับความเท่าเทียมกันทางเพศและสิทธิทางเพศ และยอมรับความรุนแรงในครอบครัวในบางกรณี หรือ สถานศึกษาไทยแทบทุกแห่งสอนเพศวิถีศึกษาไม่รอบด้าน เน้นสอนสรีระ พัฒนาการทางเพศ การหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน และการป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ รวมถึงครูเกินครึ่งหนึ่งไม่ได้รับการอบรมการสอนเพศวิถีศึกษา ทำให้มักใช้วิธีสอนแบบบรรยาย แทนการจัดกิจกรรมให้เด็กคิด วิเคราะห์และตั้งคำถามเชิงลึก เป็นต้น ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องการจัดการเรียนการสอนเพศศึกษาในสถานศึกษาของไทยอย่างกว้างขวางนั้น

                 ล่าสุด เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (นายการุณ สกุลประดิษฐ์) ได้ออกมาชี้แจงถึงประเด็นที่เป็นปัญหาต่างๆ ว่า สพฐ. ได้กำหนดให้เรื่องการเคารพสิทธิของผู้อื่นอยู่ในการเสริมสร้างทักษะชีวิตนักเรียนทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ส่วนเรื่องความสัมพันธ์ของการเคารพสิทธิของผู้อื่นต่อทัศนคติเชิงลบ ในเรื่องของความเท่าเทียมกันทางเพศและสิทธิทางเพศ รวมทั้งการยอมรับความรุนแรงทางเพศมิได้มีผลมาจาก การขาดการเรียนรู้ในเรื่องการเคารพสิทธิของผู้อื่น แต่มีปัจจัยของวัฒนธรรม ทัศนคติ ความเชื่อ และสื่อเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดทัศนคติเชิงลบ นอกจากนั้น สพฐ. ยังได้จัดการเรียนการสอนเพศศึกษาอย่างรอบด้านและครอบคลุม ๖ มิติในเรื่องเพศ คือ 1. พัฒนาการทางเพศ 2. พฤติกรรมทางเพศ 3. สุขภาวะทางเพศ 4. ทักษะส่วนบุคคล 5. สัมพันธภาพระหว่างบุคคล และ 6. สังคมและวัฒนธรรม ในวิชาสุขศึกษา ตั้งแต่ ป. 1 – ม. 6  และผ่านกิจกรรมที่โรงเรียนจัดให้แก่นักเรียนทุกคน สุดท้ายในเรื่องของการสอนเพศวิถีศึกษา สพฐ. ได้ดำเนินการอบรมศึกษานิเทศก์ ที่รับผิดชอบงานเพศศึกษาและทักษะชีวิตทั่วประเทศเพื่อพัฒนาครูให้มีความรู้ความสามารถในการสอนเรื่องเพศศึกษาและทักษะชีวิตอย่างถูกต้องและเหมาะสม

                  แต่ทั้งนี้ ผลการวิจัยดังกล่าว กระทรวงศึกษาธิการ โดย สพฐ. จะนำมาศึกษาประเด็นปัญหาที่จำเป็นต้องแก้ไขและพัฒนาอย่างเร่งด่วน เพื่อทบทวนการเรียนการสอนเพศศึกษาในสถานศึกษาไทย ซึ่งจะสร้างความเข้มแข็งในการให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาแก่นักเรียน เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะความเข้าใจของนักเรียนในเรื่องเพศศึกษาต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สพฐ. จับมือ 62 ผอ.สพม. สร้างความเข้มแข็งพี่เลี้ยง ยกระดับมาตรฐานการศึกษา เตรียมพร้อมผู้เรียนสู่การประเมินนานาชาติ

                                    ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในการประชุ...