วันที่ 1 เมษายน 2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมด้วยข้าราชการและบุคลากรของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์และสามเณร จำนวน 134 รูป และประกอบพิธีบังสุกุลอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่กระทรวงศึกษาธิการที่ล่วงลับไปแล้ว ในงานวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงศึกษาธิการ ครบรอบ 133 ปี โดยมี พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธาน พร้อมด้วยนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตลอดจนครูอาวุโส ผู้บริหาร ข้าราชการ และบุคลากรของ ศธ. เข้าร่วม ณ บริเวณสนามหน้ากระทรวงศึกษาธิการ

ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้สถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2435 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โดยมีชื่อเดิมว่า “กระทรวงธรรมการ” มีหน้าที่ในการจัดการพระศาสนา การศึกษา การพยาบาล และพิพิธภัณฑ์ ตลอดระยะเวลากว่า 133 ปี ศธ. ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนถึงยุคปัจจุบันที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการศึกษาในยุค Digital Transformation ยังคงทำหน้าที่สำคัญในการส่งเสริมและกำกับดูแลการศึกษาถ่ายทอดความรู้ พัฒนาจิตใจ และสติปัญญาของผู้เรียนในทุกระดับ ทุกประเภท เพื่อสร้างบุคคลที่มีคุณภาพและสามารถเติบโตได้อย่างสมบูรณ์ในทุกด้าน ทั้งทางวิชาการและชีวิต ควบคู่ไปกับการนำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ในการจัดการศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) โดยการจัดงานในวันนี้ นอกจากจะเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสถาปนากระทรวงศึกษาธิการขึ้นแล้ว ยังเป็นโอกาสที่ทุกคนได้ร่วมกันรำลึกถึงผู้ทำคุณประโยชน์ต่อกระทรวงศึกษาธิการที่ได้อุทิศตนในการพัฒนาการศึกษาของชาติ และผู้ที่ได้ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งเป็นผู้ที่เคยทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจให้กับภารกิจนี้ อีกทั้งยังเป็นการเชิดชูเกียรติแก่ผู้ทำคุณประโยชน์ประจำปี 2568 ที่ยังคงมีส่วนสำคัญในการพัฒนาการศึกษาไทยให้แข็งแกร่งและก้าวไกล สู่อนาคตที่ยั่งยืนและเต็มไปด้วยความเจริญรุ่งเรือง