สพฐ. ประชุมหารือร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ขับเคลื่อนระบบการศึกษาแบบบูรณาการ


 เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 กระทรวงศึกษาธิการ รองศาสตราจารย์ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือการขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง) ว่า วันนี้คณะกรรมการปฏิรูปฯ ได้เข้ามาหารือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นำโดยนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) พบว่ามีความคิดเห็นที่ตรงกันในหลายเรื่อง โดยมีภารกิจหลักที่ต้องทำร่วมกันใน 5 เรื่อง ได้แก่ การพัฒนาการเรียนการสอน การพัฒนาครู เรื่องที่เกี่ยวกับการอุดมศึกษา วิจัยและธรรมาภิบาล เรื่องกองทุนเพื่อความเสมอภาค และเรื่องของอาชีวศึกษา ซึ่งเกือบทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่มีคนทำอยู่แล้ว แต่เราได้มารวบรวมถักทอให้เป็นงานที่ทำร่วมกัน เพื่อระบุไว้เป็นแผนพัฒนาประเทศ ซึ่งจะต้องแล้วเสร็จก่อนเดือนกันยายนปี 2565 โดยเฉพาะใน 3 เรื่องใหญ่ที่ เลขาธิการ กพฐ. ได้พูดไว้ ในเรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มความเสมอภาคทางการศึกษา รวมถึงเรื่องของหลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่เป็นเรื่องใหญ่และมีความสำคัญสำหรับการศึกษาของประเทศไทย และยังมีเรื่องของจำนวนคนไทยในอนาคตข้างหน้า ที่ต้องมีการจำลองสถานการณ์ว่าจะมีจำนวนครูและนักเรียนเท่าใด ซึ่งจะเกี่ยวพันกับการผลิตครูในอนาคต


ดร.วรากรณ์ กล่าวต่อไปว่า จากการพูดคุยหารือกันทำให้เข้าใจตรงกันมากขึ้น ทางคณะกรรมการปฏิรูปฯเองก็พร้อมจะเป็นคนกลางในการจัดสัมมนาให้คนที่มีความสนใจเข้ามารับฟังในเรื่องการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาที่ได้ทำร่วมกับ สพฐ. ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการไปหารือกับเลขาธิการสภาการศึกษาและเลขาธิการอาชีวศึกษาแล้ว ด้วยความตั้งใจที่จะทำให้แผนปฏิรูปการศึกษาเป็นแผนของประชาชน เป็นแผนที่ร่วมมือกันด้านระบบการศึกษา ไม่ใช่แผนของคนใดคนหนึ่งเท่านั้น แต่จะต้องเป็นแผนที่มาจากความเห็นพ้องต้องกัน ซึ่งจะดำเนินการทำแผนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้งประเทศ

“ทั้งนี้ จะมีการรายงานความก้าวหน้าต่อสภาผู้แทนราษฎรทุกๆ 3 เดือน โดยเรามีแผนการอยู่แล้วว่าจะต้องทำแผนอะไรบ้าง ส่วนหนึ่งที่สำคัญที่เราต้องผลักดันคือ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งเราสนับสนุนพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ และรอให้ผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อจะเข้าสู่สภาฯ เป็นอย่างแรก นอกจากนี้ยังมีพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับอื่น ที่ต้องมีการขับเคลื่อนให้เดินไปข้างหน้า เราพร้อมที่จะจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นเพื่อสนับสนุน พ.ร.บ. เหล่านี้ให้เดินไปข้างหน้าโดยเร็วที่สุด และยังมีโครงการย่อยอื่นๆ ที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนปี 2565 ทั้งเรื่องของอาชีวศึกษา เรื่องธรรมาภิบาลในมหาวิทยาลัย และเรื่องของงานวิจัย ซึ่งทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กำลังดำเนินการอยู่อย่างเข้มข้นเช่นกัน” ประธานกรรมการปฏิรูปฯ กล่าว


ใหม่กว่า เก่ากว่า