การขออนุญาตใช้คุกกี้

วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

ป.ป.ส. เชิญเยาวชนอายุ 15-24 ปี ประกวด Short Clip ภายใต้โครงการเยาวชนสร้างสรรค์ พื้นที่ปลอดภัย “Save Zone, No New Face” (YouthTubers)




สํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สํานักงาน ป.ป.ส.) จัดโครงการเยาวชนสร้างสรรค์ พื้นที่ปลอดภัย “Save Zone, No New Face” (YouthTubers) โดยดําเนินการจัดการประกวดวีดิทัศน์สั้น (Short Clip) ความยาวไม่เกิน 3 นาที เพื่อสร้างการรับรู้สร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติด ผ่านกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ที่ส่งเสริมให้เยาวชนมีพื้นที่ปลอดภัยบนสังคมออนไลน์ ในการทํากิจกรรมที่แสดงออกถึงความสามารถ ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ สร้างพลังการมีส่วนร่วมปลูกฝังแนวคิดเชิงบวก รู้จักคุณค่าในตนเอง และมีเครือข่ายคุณภาพ
.
สำหรับผู้ส่งผลงานเข้าประกวดต้องมีอายุระหว่าง 15 - 24 ปี ศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า และระดับอาชีวศึกษา ซึ่งจะจัดการแข่งขันเป็นทีม ทีมละ 2 – 5 คน เพื่อชิงเงินรางวัลรวมกว่า 150,000 บาท โดยสามารถสมัครได้ตั้งแต่วันนี้ – 31 กรกฎาคม 2563
.
ทั้งนี้ สามารถสมัครและศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.savezonenonewface.com สำนักงาน ป.ป.ส. กระทรวงยุติธรรม Office of the Narcotics Control Board: Ministry of Justice (YouthTubers) เบอร์โทรศัพท์: 092 744 6099, 065 965 8255 E-Mail: admin@savezonenonewface.com และ LINE: @savezonenonewface

วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

รมว.ศธ. – เลขาฯ กพฐ. ตรวจเยี่ยมการเปิดภาคเรียนวันแรก ปี 63

วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พร้อมด้วย นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) และผู้บริหารของ สพฐ. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ของโรงเรียนในเขตกรุงเทพมหานคร ได้แก่ โรงเรียนโยธินบูรณะ โรงเรียนพิบูลอุปถัมภ์ และโรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี โดยตรวจดูความพร้อมด้านสุขอนามัยของโรงเรียน เนื่องจากยังอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) รวมถึงความปลอดภัยด้านอื่นๆ เช่น การจัดการเรียนการสอน การจัดห้องเรียน การรับประทานอาหาร และการทำกิจกรรม ให้เหมาะสมตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศธ. กล่าวว่า วันนี้ตั้งใจมาตรวจเยี่ยมโรงเรียนขนาดใหญ่ เพราะการเรียนการสอนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19นี้ โรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนขนาดใหญ่ต่างก็มีปัญหาที่แตกต่างกัน แต่ในเรื่องความปลอดภัย สำหรับโรงเรียนขนาดใหญ่มีข้อที่น่ากังวลมากกว่า เนื่องด้วยจำนวนนักเรียน และจำนวนห้องเรียน อาจจะไม่สามารถจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียนแบบปกติเต็ม 100% ได้ ตัวอย่างเช่นโรงเรียนโยธินบูรณะที่ได้มาตรวจเยี่ยมวันนี้ก็มีการจัดการเรียนการสอนแบบเหลื่อมวันกัน โดยนักเรียนที่จัดกลุ่มเป็นเลขคู่กับเลขคี่จะสลับกันมาเรียนกลุ่มละ 1 สัปดาห์ ตามมาตรการเรียน 5 วัน หยุด 9 วัน ซึ่งปัญหาหนึ่งที่พบคือห้องเรียนที่อากาศถ่ายเทได้ไม่ดีนัก หรือการแบ่งเวลาเรียนและเวลาพัก ให้นักเรียนมีเวลาพักมากขึ้น อย่างไรก็ดี ในช่วงนี้ที่มีความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขอให้ทุกฝ่ายร่วมใจกันทั้งนักเรียน ผู้ปกครอง โรงเรียน และชุมชน ในการเข้มงวดเรื่องสุขอนามัยในโรงเรียน เพื่อให้โรงเรียนเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยจากโรคโควิด-19มากที่สุด

“ผมมั่นใจว่าการเลื่อนเปิดภาคเรียนมาเป็นวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ ทำให้เรามีความพร้อมในการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่ได้ หากเกิดการติดเชื้อโควิด-19ในโรงเรียนขึ้นมาจริงๆ เราก็สามารถจัดการเรียนการสอนผ่านระบบออนแอร์หรือออนไลน์ได้ ซึ่งอาจมีปัญหาบ้างในเรื่องของการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน หรือระหว่างนักเรียนกับนักเรียนด้วยกัน รวมทั้งเรื่องอุปกรณ์ของแต่ละคนที่แตกต่างกัน แต่ในส่วนนี้กระทรวงศึกษาธิการให้ความยืดหยุ่นกับโรงเรียนทั่วประเทศในการบริหารจัดการ และการตัดสินใจเรื่องการเรียนการสอน ทว่าหากมีเรื่องการระบาดของโรคโควิด-19เข้ามาเกี่ยวข้อง ก็ต้องให้หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่เข้ามาร่วมตัดสินใจด้วย” รมว.ศธ. กล่าว

ด้านนายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สำหรับภาพรวมของการตรวจเยี่ยมในวันนี้ ถือว่าแต่ละโรงเรียนสามารถบริหารจัดการได้เป็นอย่างดี ซึ่งในส่วนของโรงเรียนขนาดใหญ่ถือว่ามีความพร้อมอยู่แล้ว ส่วนในกรณีที่หากเกิดการระบาดในโรงเรียน ทางสาธารณสุขจังหวัดจะเข้าไปประเมินสถานการณ์ให้ ว่าเด็กได้มีการเช็กอินผ่าน‘ไทยชนะ’เข้ามาโรงเรียนเมื่อไหร่ ถ้ามาวันแรกครั้งแรกแล้วพบตั้งแต่หน้าโรงเรียนก็ทำการส่งต่อไปยังหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ แต่หากเด็กเดินทางไปมาหลายจุดในโรงเรียน ก็จะดูว่ามีใครที่เกี่ยวข้องบ้าง แล้วให้หน่วยงานสาธารณสุขประเมินว่าควรจะหยุดเรียนทั้งห้อง ทั้งชั้น หรือทั้งโรงเรียน โดยให้คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อของจังหวัดเป็นผู้ตัดสินใจ

“ส่วนในเรื่องการเรียนของเด็กเราพยายามจะจัดให้ครบถ้วนทุกรูปแบบที่สามารถทำได้ ทั้งแบบเรียนในห้องเรียน 100% (onsite) แบบเรียนออนไลน์ (online) และแบบผสมผสาน (onsite+online) ตามข้อตกลงระหว่างผู้ปกครองกับคุณครูในชั้นเรียนนั้น ซึ่งทางโรงเรียนก็ได้สร้างความเข้าใจกับผู้ปกครองในเรื่องนี้แล้ว” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

เลขาธิการ กพฐ. ลงพื้นที่จ.อุดรธานี ตรวจความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน

วันอังคารที่ 30 มิถุนายน 2563 นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) พร้อมด้วย นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายพรชัย โพคันโย ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต 1 และหัวหน้าส่วนการศึกษาในจังหวัดอุดรธานี ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ณ โรงเรียนอนุบาลอุดรธานี โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล โรงเรียนอุดรพัฒนาการ และโรงเรียนบ้านเลี่ยมพิลึก โดยตรวจเยี่ยมการดำเนินงานด้านความปลอดภัยในการเปิดสถานศึกษาตาม 6 มาตรการหลักของกระทรวงสาธารณสุข คือ 1) มาตรการคัดกรองวัดไข้และอาการเสี่ยงก่อนเข้าสถานศึกษา 2) สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาเมื่ออยู่ในสถานศึกษา 3) ให้มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์อย่างเพียงพอ 4) จัดให้มีการเว้นระยะห่าง 5) ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสที่มีการใช้ร่วมกันบ่อย และ 6) ลดความแออัดไม่จัดกิจกรรมที่มีการสัมผัสร่วมกัน อีกทั้งได้ตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอน โรงอาหาร และติดตามการจัดทำอ่างล้างมือบริเวณหน้าโรงเรียนและในโรงเรียนตามนโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี

จากนั้นเลขาธิการ กพฐ. และ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ได้เดินทางไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต 1 เพื่อร่วมประชุมสรุปภาพรวมและมอบนโยบายการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน ผ่านระบบ Video Conference โดยมี นายวันชัย จันทร์พร รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในกลุ่มพื้นที่การบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประจำเขตตรวจราชการที่ 10 (Cluster 10) 15 เขต ครอบคลุม 5 จังหวัด (อุดรธานี เลย หนองบัวลำภู หนองคาย และบึงกาฬ) หัวหน้าส่วนการศึกษาในจังหวัดอุดรธานี หัวหน้าส่วนที่เกี่ยวข้องในจังหวัดอุดรธานี ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ และบุคลากรทางการศึกษา เข้าร่วมการประชุม พร้อมทั้งถ่ายทอดสดไปยังโรงเรียนและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในกลุ่มพื้นที่การบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประจำเขตตรวจราชการที่ 10 ให้ได้รับชมพร้อมกันอีกด้วย

นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนในจังหวัดอุดรธานีวันนี้ พบว่าแต่ละโรงเรียนสามารถเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนได้เป็นอย่างดี มีจุดคัดกรองวัดอุณหภูมิ อ่างล้างมือ และเจลแอลกอฮอล์ จัดไว้ที่บริเวณหน้าโรงเรียนและในโรงเรียน พร้อมปฏิบัติตามหลัก 6 มาตรการของกรมอนามัยเป็นอย่างดี ส่วนการจัดห้องเรียนก็จัดไม่เกิน 25 คนต่อห้อง และมีระยะห่างไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร

“โดยภาพรวมของทั้งประเทศนั้น มีโรงเรียนที่สามารถเปิดเรียนได้ 29,147 โรง แบ่งเป็นจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียน(onsite)จำนวน 23,833 โรง และจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน(onsite+online)จำนวน 5,814 โรง ในส่วนที่ผู้ปกครองมีความกังวลใจในการส่งบุตรหลานมาเรียนก็ได้ให้โรงเรียนทำความเข้าใจและปฏิบัติตามมาตรการของกรมอนามัยอย่างเคร่งครัดแล้ว” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ทั้งนี้ โดยสรุปภาพรวมการประเมินความพร้อมและรูปแบบการจัดการเรียนการสอนของเขตพื้นที่การศึกษาในเขตตรวจราชการที่ 10 นั้น สำหรับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานีเขต 1 มีโรงเรียนในสังกัดทั้งสิ้น 220 โรงเรียน ผลการประเมินตนเองของโรงเรียนในการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนในระดับสีเขียว 188 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 85.45 ระดับสีเหลือง 32 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 14.55 และไม่มีผลประเมินในระดับสีแดง มีการจัดการเรียนการสอนใน 2 รูปแบบ คือ จัดการเรียนการสอนแบบปกติร้อยละ 90.91 และจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสานร้อยละ 9.09 และมีอ่างล้างมือในโรงเรียนรวมทั้งสิ้น 2,421 อ่าง

สำหรับภาพรวมระดับจังหวัด เขตพื้นที่การศึกษาในจังหวัดอุดรธานีมี 5 เขต ประกอบด้วย สพป.อุดรธานี เขต 1–4 และสพม. เขต 20 มีโรงเรียนในสังกัดทั้งสิ้น 823 โรงเรียน มีผลการประเมินตนเองในระดับสีเขียว 754 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 91.62 ระดับสีเหลือง 69 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 8.38 และไม่มีโรงเรียนที่มีผลการประเมินระดับสีแดง มีรูปแบบการจัดการเรียนการสอน 2 รูปแบบ คือ จัดการเรียนการสอนแบบปกติร้อยละ 85.66 และจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสานร้อยละ 14.34 และมีอ่างล้างมือรวมทั้งสิ้น 8,730 อ่าง

ขณะที่กลุ่มพื้นที่การบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประจำเขตตรวจราชการที่ 10 (Cluster 10) มีโรงเรียนในสังกัดทั้งสิ้น 2,137 โรงเรียน ผลการประเมินตนเองของโรงเรียนในการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนในระดับสีเขียว 1,998 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 93.50 ระดับสีเหลือง 139 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 6.50 และไม่มีโรงเรียนที่มีผลการประเมินระดับสีแดง มีการจัดการเรียนการสอนใน 2 รูปแบบ คือ จัดการเรียนการสอนแบบปกติร้อยละ 88.07 และจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสานร้อยละ 11.93

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในเขตตรวจราชการที่ 10 มีการดำเนินงานจัดการเรียนการสอนภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 โดยกำหนดกิจกรรมแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การเตรียมความพร้อม โดยตั้งศูนย์เฉพาะกิจการเรียนการสอน สร้างความรู้ความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคน สำรวจความพร้อมการเข้าถึงการรับชมของนักเรียนและผู้ปกครอง และพัฒนาครูและบุคลากรสำหรับการเรียนการสอนทางไกล ระยะที่ 2 ทดลองจัดการเรียนการสอนโดยใช้การศึกษาทางไกล โดยให้นักเรียนทุกระดับเรียนผ่านระบบ DLTV ระบบ Online และมีคณะกรรมการออกติดตามการเรียนการสอนที่บ้านนักเรียน พร้อมทั้งรวบรวมข้อมูลสภาพความพร้อมในการจัดการเรียนการสอน เพื่อเป็นแนวทางการปรับปรุงพัฒนา รวมทั้งกำหนดรูปแบบในการจัดการเรียนการสอนตาม 6 มาตรการหลักในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในสถานศึกษา และระยะที่ 3 การจัดการเรียนการสอน โดยดำเนินการจัดการเรียนการสอนตามรูปแบบที่โรงเรียนกำหนด พร้อมทั้งประเมินผลการจัดการเรียนการสอนเพื่อเป็นข้อมูลและแนวทางในการปรับปรุงพัฒนาในการจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพต่อไป

สพฐ. จับมือ 62 ผอ.สพม. สร้างความเข้มแข็งพี่เลี้ยง ยกระดับมาตรฐานการศึกษา เตรียมพร้อมผู้เรียนสู่การประเมินนานาชาติ

                                    ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในการประชุ...