การขออนุญาตใช้คุกกี้

วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2562

รองเลขาธิการ กพฐ. (ดร.อัมพร พินะสา) แนะโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมกาญจนบุรี "ปรับวิธีคิด-วิธีทำใหม่-ทำทันที-สร้างนวัตกรรมภายใต้ข้อจำกัดที่มี" เพื่อร่วมพัฒนาเด็กกาญจนบุรีให้มีคุณภาพ

รองเลขาธิการ กพฐ. (ดร.อัมพร พินะสา) แนะโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมกาญจนบุรี "ปรับวิธีคิด-วิธีทำใหม่-ทำทันที-สร้างนวัตกรรมภายใต้ข้อจำกัดที่มี" เพื่อร่วมพัฒนาเด็กกาญจนบุรีให้มีคุณภาพ



เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2562 ดร.อัมพร พินะสา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานการประชุมและบรรยายพิเศษ ในการประชุมปฏิบัติการจัดทำแผนการดำเนินงานของโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดกาญจนบุรี ณ โรงแรมราชศุภมิตร อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ผู้บริหารและครูในโรงเรียนนำร่อง ทั้ง 41 โรงเรียน โรงเรียนละ คน ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้แทนสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ศึกษานิเทศก์ และผู้เกี่ยวข้อง รวม 250 คน


สาระสำคัญที่รองเลขาธิการ กพฐ. (ดร.อัมพร พินะสา) ได้ให้แนวคิดแนวทางต่อที่ประชุม มีดังนี้
1. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เกิดขึ้นมาแล้ว จะต้องตั้งอยู่ และยั่งยืนได้อย่างไร ดังนั้น ผู้เกี่ยวข้องจะต้องทำความเข้าใจว่าพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาคืออะไร ทำไมต้องมีพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และจะทำอย่างไรในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา หากมีคำถามว่าพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดกาญจนบุรีจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ คำตอบอยู่ที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในจังหวัดกาญจนบุรีว่า จะทำได้สำเร็จหรือไม่ เพราะโอกาสเปิดให้ทุกภาคส่วนในกาญจนบุรีร่วมคิดร่วมทำและจัดการศึกษาให้ตอบโจทย์พื้นที่ได้เอง



2. การศึกษาที่มุ่งหวังเป็นอย่างไร การศึกษาที่ดีที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องการ นั่นคือ การศึกษาที่สร้างลูกให้เป็นคนดี คนเก่ง มีงานทำ มีความสุข ขณะที่สังคมก็คาดหวังให้ครอบครัวส่งเสริมสนับสนุนลูกให้เป็นคนดีคนเก่งของสังคม แต่พ่อแม่จะให้การศึกษาแก่ลูกและสร้างลูกให้เป็นอย่างที่มุ่งหวังนั้นไม่สามารถทำได้อย่างที่ต้องการทุกคน พ่อแม่ไม่สามารถดูแลได้เต็ม 100% โรงเรียนจึงจะต้องเป็นบ้านหลังที่สองของเด็กๆ คำถามคือ โรงเรียนของเราเป็นบ้านหลังที่สองที่ดีเพียงพอแล้วหรือยัง ครูและผู้บริหารโรงเรียนเป็นพ่อแม่คนที่สองอย่างเต็มที่แล้วหรือยัง และไม่ใช่เพียงโทษครูว่าไม่ดี ไม่เก่ง จึงทำให้ไม่สามารถสร้างคนคุณภาพให้กับสังคมได้ แต่สังคม คนทั้งสังคมและประเทศชาติจะต้องร่วมกันสร้างเด็ก เยาวชน และคนไทยให้มีคุณภาพร่วมกัน และเครื่องมือสำคัญในการสร้างคนให้มีคุณภาพก็คือ “การศึกษา”

3. การศึกษา ที่จะเป็นเครื่องมือสร้างคน จะต้องเกิดขึ้นได้ทุกมิติ ทุกหนทุกแห่ง เด็กอยู่ที่บ้าน พ่อแม่เป็นครูสอนให้เด็กเรียนรู้กิจวัตรประจำวัน ฝึกให้รับผิดชอบ สร้างวินัยจากบ้าน ดังนั้น การศึกษาจึงเริ่มต้นจากฐานครอบครัว คำถามก็คือ แล้วขณะนี้พ่อแม่ผู้ปกครอง/ครอบครัวคิดเช่นนี้หรือไม่ ที่จะสร้างลูกให้เป็นคนคุณภาพจากในบ้าน สภาพครอบครัวและสังคมปัจจุบันจะพบพ่อแม่วัยใสท้องไม่พร้อม มีลูกด้วยความบังเอิญ จากคำกล่าวที่ว่า “ไม่มีเด็กแย่ในครอบครัวที่พ่อแม่พร้อม และให้การเลี้ยงดูอย่างเข้าใจ” แต่เมื่อพ่อแม่ไม่พร้อมและเลี้ยงดูไม่ได้ จึงมีปัญหา ดังนั้น การศึกษาที่ดีจึงต้องเริ่มที่บ้าน เมื่อบ้านดี โรงเรียนดี ก็จะสร้างคนอย่างมีคุณภาพ จึงจะเป็น “การศึกษาสร้างคน คนสร้างชาติ” และการศึกษาสร้างความเจริญงอกงามให้กับชีวิตของคนทุกคน เด็กจะได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพที่ควรจะเป็น ฉะนั้น เมื่อกาญจนบุรีสร้างคนดี เก่ง พึ่งตนเองได้ จังหวัดกาญจนบุรีจะเป็นเมืองที่น่าอยู่ที่สุด ถ้าทำไม่ได้ เด็กวันนี้ อาจเป็นโจรในวันหน้า และกลับมาปล้นบ้านและสร้างความเดือนร้อนให้เราในอนาคตอันใกล้



4. ความคาดหวังในการสร้างคนให้มีคุณภาพในทุกช่วงของชีวิต ตั้งแต่เกิด เรียน จบการศึกษา และมีงานทำ นั่นคือ เกิดในครอบครัวคุณภาพ ได้รับการดูแลจากสาธารณสุขและผู้เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน เมื่อเข้าเรียนได้เรียนในโรงเรียนที่ดีมีคุณภาพ จบการศึกษามีงานทำมีรายได้ เพื่อไปสร้างครอบครัวของตนเองให้เป็นครอบครัวที่มีคุณภาพ ที่สำคัญคือ คนคุณภาพจะต้องมีฝัน มีแรงบันดาลใจที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น เพราะแค่เพียงคิดชีวิตเปลี่ยน แต่เมื่อลงมือทำจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง


5. สภาพความเป็นจริงของการสร้างคนให้มีคุณภาพ จะพบว่ายังไม่เป็นไปตามความคาดหวัง คุณภาพการเกิดของเด็กในแต่ละครอบครัว มีความจริงว่า “ยิ่งจน ยิ่งดก” คนยากจนมักมีลูกมาก แต่คนมีฐานะดีจะมีลูกยาก ปัญหาแม่วัยใสจะแก้ไขอย่างไร หากแก้ไขด้วยฐานการศึกษา ที่จะให้รู้เข้าใจ ตระหนัก และไม่มีลูกก่อนวัยอันควร ซึ่งจะต้องมีวิธีการและหาแนวทางความร่วมมือในการดำเนินการกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สำหรับอัตราการเข้าเรียนของเด็กวัยเรียน ยังพบว่า ยังมีเด็กในหลายพื้นที่ตกหล่นด้วยหลายสาเหตุ เช่น เกิดไม่แจ้ง หรืออยู่ในพื้นที่ห่างไกล จะทำอย่างไรให้สามารถเข้าเรียนได้ 100% เมื่อเด็กจบการศึกษาแล้วสามารถมีงานทำ หรือสามารถหาเลี้ยงตัวเองได้หรือไม่ หากฝึกให้นักเรียนมีความพร้อมในการเรียนรู้และประกอบอาชีพได้เอง ก็จะไม่มีปัญหาจบการศึกษาแล้วไม่มีงานทำ ครอบครัวเองควรปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงลูกให้พึ่งตนเองได้ โดยเลี้ยงแบบไก่ นั่นคือ ให้หากินได้เอง และปรับเปลี่ยนให้มีวิธีคิดใหม่ มีแรงบันดาลใจในการหาเลี้ยงชีพ ทั้งนี้ ครูเองก็จะต้องสร้างแรงบันดาลใจและเตรียมผู้เรียนให้พร้อมพึ่งตนเองด้วย

6. สาเหตุของอุปสรรคในการสร้างและพัฒนาคนให้มีคุณภาพ มาจากความแตกต่างของสภาพภูมิสังคม สภาพภูมิศาสตร์ และการบริหารจัดการที่แตกต่างกันของแต่ละพื้นที่ ทำให้การบริหารจัดการแบบบนลงล่าง (top down) ไม่ตอบโจทย์พื้นที่ ไม่สามารถยกระดับคุณภาพการศึกษาได้จริง
 
7. วิธีการแก้ไขจึงให้ความสำคัญของสิ่งดีที่เป็นรากเหง้าของสังคมไทย นั่นคือ การศึกษาและการเรียนรู้แบบพึ่งพาอาศัยกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และให้ร่วมกันในการหาแนวทาง วิธีการแก้ไขปัญหาด้วยผู้บริหาร ครู และผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่เอง เพื่อให้ได้วิธีที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลต่อคุณภาพผู้เรียน และถูกจริตครูในพื้นที่ จึงเป็นที่มาของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 เป็นการเปิดโอกาสให้พื้นที่ดูข้อจำกัดในการจัดการศึกษาของพื้นที่ อาจมาพิจารณาว่า กลุ่มสาระ เรียน 200 วัน เหมาะสมหรือไม่ หรือมีประเด็นใดที่จะสามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับหลักสูตร การบริหารจัดการ การจัดการเรียนการสอน หรือจะปรับการวัดประเมินผลให้เป็นการคิดวิธีการวัดผลความดี ความเก่ง และความสุข ในแบบที่พื้นที่ต้องการได้เอง

8. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา มีคำว่าพื้นที่ หมายถึงขอบเขต หรืออาณาเขต ซึ่งจังหวัดกาญจนบุรีเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับโอกาสในการพัฒนาตามความต้องการของพื้นที่ การดำเนินการต้องการ “ใจ” จึงให้มีการรวมกลุ่มโรงเรียนที่ใจสู้และเห็นด้วยที่จะใช้โอกาสนี้สร้างการเปลี่ยนแปลงในการสร้างและพัฒนาคนกาญจนบุรีให้มีคุณภาพ ร่วมกันคิดจากปัญหา หาสาเหตุ และวิธีการแก้ไข ดำเนินการให้มีการปลดล็อกอุปสรรคด้วยบทบาทของคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดกาญจนบุรี หากอยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ของจังหวัดให้เสนอไปยังคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาผ่าน สพฐ.

สิ่งสำคัญเหนืออื่นใดคือ การทำงานนี้ด้วยใจ และทำเพื่อเด็ก ให้เด็กกาญจนบุรีเก่ง ดี สุข สร้างตัวชี้วัดในการแก้ปัญหา เลือกใช้ หรือคิดค้นพัฒนานวัตกรรม ภายใต้ข้อจำกัดที่มีอยู่ ให้ได้ ดังนั้น สิ่งใดที่โรงเรียนนำร่องสามารถทำได้ให้ลงมือทำทันที บนฐานการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน หากติดขัดแจ้งเขต/คณะกรรมการขับเคลื่อนระดับจังหวัด เพื่อใช้โอกาสของการอยู่ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาสร้างรูปธรรมของความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพเด็กและเยาวชน ให้เป็นที่ประจักษ์ของชุมชน สังคม และประเทศ

การจัดกิจกรรมวิชาการส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศที่สอง

ข่าวประชาสัมพันธ์
            การจัดกิจกรรมวิชาการส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศที่สองของ สพฐ.
       โดยอาศัยความร่วมมือกับองค์การเจ้าของภาษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
.............................................
             สพฐ. ส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศที่สองเพื่อพัฒนาผู้เรียน
ให้มีทักษะในการสื่อสารภาษาต่างประเทศภาษาอื่น ๆ นอกเหนือจากภาษาอังกฤษ
อันเป็นหนึ่งในคุณลักษณะที่มุ่งให้เกิดในคนไทยตามยุทธศาสตร์ชาติ
(พ.ศ. 2561 – 2580) ในปัจจุบัน สพฐ. ส่งเสริมให้โรงเรียนจัดการเรียนการสอนภาษา
ต่างประเทศที่สองหลากหลายภาษา พร้อมทั้งจัดกิจกรรมวิชาการในระดับประเทศ
เพื่อพัฒนาทักษะภาษาของผู้เรียนตามมาตรฐานเจ้าของภาษาสร้างโอกาสในการใช้ภาษา
ในสถานการณ์จริงและสร้างเวทีในการแสดงความสามารถและทางภาษาให้แก่ผู้เรียน
.
โดย สพฐ. ได้รับความร่วมมือจากองค์กรเจ้าของภาษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ในการสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการในเชิงภาษาและวัฒนธรรม ได้แก่ Japan Foundation
Korean Education Center สมาคมครูภาษาฝรั่งเศสแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์
สถาบันเกอเธ่ และสมาคมครูภาษาเยอรมันในประเทศไทย กิจกรรมวิชาการที่ดำเนินการ
ในแต่ละปีการศึกษา ได้แก่ ค่ายภาษา และการแข่งขันทักษะภาษา สำหรับกิจกรรมค่าย
จะเป็นค่ายภาษาแบบเข้มซึ่งจะจัดในเดือนพฤษภาคม และเดือนสิงหาคม โดยเปิดโอกาส
ให้นักเรียนที่เรียนภาษาจากจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ได้เข้าค่ายร่วมกันเพื่อให้เกิดการ
แลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างเครือข่ายผู้เรียนภาษา ค่ายที่จัดจะมีลักษณะที่แตกต่างกันไป
ในแต่ละภาษา อาทิ ค่ายภาษาญี่ปุ่น จะมุ่งเน้นที่การเรียนรู้ภาษาญี่ปุ่นโดยใช้โครงงาน
เป็นฐาน เพื่อพัฒนาทักษะศตวรรษที่ 21 ควบคู่ไป กับการพัฒนาทักษะภาษาญี่ปุ่น
ค่ายภาษาเกาหลีเน้นการเรียนรู้การใช้ภาษาในสถานการณ์เชิงอาชีพค่ายภาษาฝรั่งเศส
มุ่งเน้นที่การพัฒนาภาษาสู่มาตรฐานคุณภาพ CECRL ซึ่งเป็นกรอบการวัดระดับความรู้
ภาษาฝรั่งเศสที่เป็นมาตรฐานของสภายุโรป และค่ายภาษาเยอรมันเน้นการพัฒนา
ทักษะภาษาเยอรมันในการทำกิจกรรมรอบตัวผู้เรียนสำหรับกิจกรรมการแข่งขันทักษะ
ภาษา สพฐ. จัดให้มีเวทีให้นักเรียนได้แสดงความสามารถทางภาษาหลายเวที

นอกเหนือจากการแข่งขันทักษะภาษาต่างประเทศที่สอง ในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน
ระดับประเทศใน4 ภูมิภาค ซึ่ง สพฐ. จัดเป็นประจำทุกปีได้แก่
 -  การแข่งขันทักษะภาษาเยอรมันในงานด็อยทเชอร์ ท๊าก (Deutscher Tag)
ในวันที่ 30 สิงหาคม 2562 ณ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
 -  การแข่งขันกล่าวสุนทรพจน์ภาษาเกาหลีแห่งประเทศไทย ในวันที่ 2 กันยายน 2562
ณ โรงแรมชาเทรียม ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ
 -  การแข่งขันทักษะภาษาญี่ปุ่นระดับประเทศของศูนย์เครือข่ายพัฒนาการเรียนการสอน
ภาษาญี่ปุ่นของ สพฐ.  กำหนดจัดในวันที่ 7 กันยายน 2562 พร้อมกันใน 5 ภูมิภาค
(กรุงเทพฯ ประจวบคีรีขันธ์ เชียงราย สุรินทร์ และตรัง)

โดยนักเรียนที่เข้าร่วมการแข่งขันจะต้องเป็นผู้ชนะการแข่งขันในระดับโรงเรียน
และระดับศูนย์เครือข่ายเพื่อมาแข่งขันต่อในระดับประเทศ ซึ่งในแต่ละการแข่งขัน
 สพฐ. ได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากองค์กรเจ้าของภาษาเป็นอย่างดี
 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแข่งขันกล่าวสุนทรพจน์ภาษาเกาหลี
ซึ่งในปีนี้ที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงศึกษาธิการสาธารณรัฐเกาหลี
ทั้งในด้านงบประมาณการจัดการแข่งขัน และของรางวัลสำหรับนักเรียนที่ชนะการแข่งขัน
อันได้แก่ ทุนเรียนภาษาเกาหลี (ระยะ 1 เดือน) และทุนการศึกษาดูงาน(ระยะ 1 สัปดาห์)
 ณ สาธารณรัฐเกาหลี
.
 สพฐ. จะจัดกิจกรรมวิชาการเพื่อส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศที่สอง
อย่างต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนพัฒนาทักษะภาษาเพื่อการสื่อสารอย่างเป็นรูปธรรม
 พร้อมทั้งแสวงหาความร่วมมือจากองค์กรเจ้าของภาษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ในกลุ่มภาษาอื่น ๆ ได้แก่ ภาษาสเปน รัสเซียและกลุ่มภาษาอาเซียน
เพื่อให้นักเรียนที่เรียนภาษาต่างประเทศที่สอนทุกภาษาได้มีโอกาส
ได้เข้าร่วมกิจกรรมที่ทาง สพฐ. จัดให้อย่างเท่าเทียมกัน

ผู้ให้ข้อมูล  สถาบันการแปลและส่งเสริมภาษาต่างประเทศที่สอง สวก. สพฐ
    โทรศัพท์ 02 288 5748 อีเมล์: 2nd.language.obec@gmail.com

วันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2562

สพฐ. เดินหน้าส่งเสริมการเตรียมความพร้อมกำลังคนด้านวิศวกรรมอาร์แอนด์ดี เพื่อสนับสนุนกำลังคนด้านการวิจัย นวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรมและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศตามนโยบายรัฐบาล

สพฐ. เดินหน้าส่งเสริมการเตรียมความพร้อมกำลังคนด้านวิศวกรรมอาร์แอนด์ดี เพื่อสนับสนุนกำลังคนด้านการวิจัย นวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรมและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศตามนโยบายรัฐบาล
---------------------------
ดร.สุเทพ ชิตยวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังคนที่สามารถตอบสนองความต้องการในภาคอุตสาหกรรมในอนาคตของประเทศ ที่สอดรับกับทิศทางในการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และนโยบายประเทศไทย 4.0 (อุตสาหกรรม 4.0) ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีบุคลากรที่สำเร็จการศึกษาจากกระบวนการบ่มเพาะด้วยหลักสูตรการศึกษาของสถาบัน KOSEN
.
เพื่อให้ได้บุคลากรที่สามารถดูดซับเทคโนโลยีสมัยใหม่ วิจัย พัฒนาต่อยอดและถ่ายทอดด้านวิศวกรรมศาสตร์ รวมถึงสามารถปฏิบัติงานด้านวิศวกรรมเชิงวิจัยในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ของประเทศไทยได้ จึงมอบหมายให้ ดร.พีระ รัตนวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นำคณะที่ปรึกษาและกรรมการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสถาบันโคเซ็นประเทศญี่ปุ่นและกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย สพฐ. เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการความร่วมมือฯ ครั้งที่ 5 (5th Organizing Committee Meeting) ระหว่างวันที่ 30 กรกฎาคม – 3 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา
ณ สถาบัน Sendai KOSEN ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งคณะฝ่ายไทยนอกจากรองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว
.
ยังมี ดร.โกศล เพ็ชร์สุวรรณ์ (ที่ปรึกษา) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยุวดี นาคะผดุงรัตน์ (Co-Chairman) คุณสมใจ คล้ายสุบรรณ์ อัครราชทูตที่ปรึกษาด้านการศึกษา สถานเอกอักคราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว ดร.ภูริวรรษ คำอ้ายกาวิน ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา สพฐ. รวมถึงเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเดินทางเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ สำหรับฝ่ายญี่ปุ่นประกอบด้วย Dr. Kenji Higashida Executive Director, KOSEN Head Office (Co-Chairman, Dr. Omura Hiroshi Deputy Director General, KOSEN Head Office และอธิการบดีสถาบันโคเซ็น จำนวน 6 แห่ง พร้อมด้วยบุคลากร เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องฝ่ายต่างๆ ของสถาบันโคเซ็น
.
การศึกษาระบบโคเซ็น (KOSEN) ของประเทศญี่ปุ่น เน้นการบูรณาการคณิตศาสตร์ชั้นสูง กับทฤษฎีและการปฏิบัติทางวิศวกรรมศาสตร์ ผู้สำเร็จการศึกษาจะเป็นวิศวกรนักวิจัยเชิงสร้างสรรค์ที่มีประสบการณ์ที่เน้นการปฏิบัติงานวิจัยเชิงสร้างสรรค์ มีความรู้ด้านทฤษฎี (Practical engineers and researchers with creative minds) และมีความสามารถทางเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย (Cutting-edge technology) ตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก อีกทั้งยังเป็นที่ยอมรับในญี่ปุ่นว่าเป็นวิศวกรที่มีความรู้ความสามารถสูง สถาบันโคเซ็นได้ผลิตวิศวกรที่เน้นการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ล้ำสมัยและมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นมามากกว่า 8 แสนคน ทำให้ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศผู้นำทางด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีแนวหน้าของโลกมาโดยตลอด
.
การประชุมคณะกรรมการความร่วมมือฯ 5th Organizing Committee Meeting ครั้งนี้มีสาระสำคัญของการประชุมประกอบด้วย การรับทราบผลการศึกษานักเรียนทุนรัฐบาลไทยตามโครงการทุนการศึกษาของนักเรียนโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยไปศึกษาต่อ ณ สถาบันโคเซ็นประเทศญี่ปุ่น รุ่นที่ 1และรุ่นที่ 2 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2561 จำนวน 23 คน ขณะนี้กำลังศึกษา ณ สถาบันโคเซ็น ต่างๆ จำนวน 6 แห่ง ในสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ ประกอบด้วย 
กลุ่มสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล (Mechanical Engineering) จำนวน 5 คน 
กลุ่มสาขาวิชาวิศวกรรมวัสดุศาสตร์และเคมีวัสดุ (Materials and Chemistry Materials Engineering) จำนวน 6 คน
กลุ่มสาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (Electrical and Engineering) จำนวน 6 คน
กลุ่มสาขาวิชาวิศวกรรมระบบอุตสาหกรรมและสารสนเทศ (Industrial Systems and Information System Engineering) จำนวน 3 คน
กลุ่มสาขาวิชาวิศวกรรมวิทยาศาสตร์ประยุกต์และหุ่นยนต์ (Advanced Science/ Applied Science and Robotic) จำนวน 3 คน
.
โดยนักเรียนทุนที่กำลังศึกษาอยู่ ณ สถาบันโคเซ็น ทุกคนมีผลการเรียนดีเยี่ยมและมีความสุขกับการเรียนอย่างเป็นที่น่าพอใจ ในจำนวนนักเรียนเหล่านี้มีนักเรียนที่สามารถสอบได้ที่ 1 ของรุ่นในชั้นเรียนรวมกับนักเรียนโคเซ็น ได้แก่ 
น.ส.กมลภัทร อินต๊ะวงศ์ (โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย พิษณุโลก) กำลังศึกษาสาขาวิชา Computer Science Course ณ Ibaraki KOSEN (รุ่นที่ 1) นายปุณณ์ มานะกิจศิริสุทธิ (โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย พิษณุโลก) กำลังศึกษาสาขาวิชา Integrated Science and Technology Mechanical System Course ณ Tsuyama KOSEN (รุ่นที่2) นอกจากนี้ยังมีนักเรียนทุนอีกหลายคนที่สอบได้ติดอันดับ Top 5 และได้คะแนน 100 คะแนนเต็มในวิชาต่างๆ เช่น Calculus Algebraic Geometry Physics Digital Engineering และภาษาญี่ปุ่น เป็นต้น
.
นอกจจากนี้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระดับสถาบัน ระหว่างสถาบัน KOSEN และ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ในการแลกเปลี่ยนนักเรียนครูและบุคลากรทั้งในการเรียนการสอน การทำวิจัยนวัตกรรม ความร่วมมือกับสถาบันโคเซ็นของประเทศไทยในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงการพัฒนากำลังคนที่สามารถตอบสนองความต้องการในภาคอุตสาหกรรมในอนาคตของประเทศ ที่สอดรับกับทิศทางในการพัฒนาประเทศตามกรอบวิสัยทัศน์และเป้าหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 12 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่กำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศมุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านประเทศไทยจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง โดยกำหนดตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ของประเทศไทยให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูงและสามารถกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม เป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาคสู่ความเป็นชาติการค้าและบริการ (Trading and Service Nation) รวมทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรม First S-curve และ New S-curve ทั้ง 10 ประเภท ตามนโยบายประเทศไทย 4.0 (อุตสาหกรรม 4.0) ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีบุคลากรที่สำเร็จการศึกษาจากกระบวนการบ่มเพาะด้วยหลักสูตรการศึกษาของสถาบัน KOSEN เพื่อให้ได้บุคลากรที่สามารถดูดซับเทคโนโลยีสมัยใหม่ วิจัย พัฒนาต่อยอดและถ่ายทอดด้านวิศวกรรมศาสตร์ รวมถึงสามารถปฏิบัติงานด้านวิศวกรรมเชิงวิจัยในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ของประเทศไทยได้ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้วยปัญญาและเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีความยั่งยืนในอนาคต
.



หารือบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก

หารือบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก ให้เขตพื้นที่ลงแผนดำเนินงาน30 ส.ค.นี้ พร้อมตั้งทีมแก้ไขแนวทางและหลักสูตรที่เกี่ยวกับโรงเรียนขนาดเล็กให้ทันใหม่

นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ว่า
ที่ประชุมได้หารือแผนการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 15,715 โรงเรียน โดยมีการสำรวจข้อมูลสภาพปัญหาในแต่ละพื้นที่ รวมถึงกำหนดแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก ปีงบประมาณ 2562-2565 ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ
จากการสำรวจมีข้อมูลที่น่าสนใจ พบว่า ในหลายพื้นที่แก้ปัญหาด้วยวิธีการควบรวม โดยมีการเรียนรวมทุกชั้น และเรียนรวมบางชั้นเรียน ล่าสุดมีโรงเรียนที่ควบรวมไปแล้ว 5,685 โรงเรียน มีนักเรียนได้รับการสนับสนุนค่าพาหนะกว่า 75,000 คน
เพื่อใช้เดินทางไปเรียนในโรงเรียนดีใกล้บ้านที่มีอยู่ 249 โรงเรียน และโรงเรียนเครือข่าย 474 โรงเรียน ซึ่ง สพฐ.ได้สนับสนุนการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบต่างๆ สำหรับการเรียนแบบคละชั้น การจัดสื่อการเรียนการสอน และการศึกษาทางไกล DLTV/DLIT การบูรณาการเรียนการสอนลักษณะนี้เป็นแนวทางที่สพฐ.จะขับเคลื่อนต่อไป
“วันที่ 30 สิงหาคม นี้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) ทั่วประเทศ จะส่งแผนการบริการจัดการโรงเรียนขนาดเล็กมาให้ สพฐ.พิจารณา ซึ่งจากข้อมูลยังมีโรงเรียนที่ต้องคงอยู่
เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารอีก 1,917 แห่ง ซึ่ง สพฐ.จะทำงานเชิงรุก ที่ผ่านมาพบแล้วว่าการควบรวมโรงเรียนเป็นการส่งเสริมให้เกิดคุณภาพการศึกษา
แต่ต้องดูบริบทที่เหมาะสมด้วย การพิจารณาแก้ปัญหาจะขึ้นอยู่กับเขตพื้นที่นั้นๆที่จะบริหารจัดการโรงเรียน” นายสุเทพ กล่าว
นายสุเทพ กล่าวอีกว่า ในส่วนของอัตราผู้บริหารโรงเรียนที่ควบรวม จะต้องถูกยุบตามหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของเขตพื้นที่
ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ได้ขอให้เขตพื้นที่ฯแจ้งตัวเลขผู้บริหารว่ามีเท่าไร โดยนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ให้นโยบายมาว่าเป็นไปได้หรือไม่ เมื่อควบรวมโรงเรียนแล้ว จะให้อัตราผู้บริหารมาอยู่ในโรงเรียนอนุบาล เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน
ขณะที่คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ(คปร.) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) กำหนดมาแล้วว่า โรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน เมื่อมีผู้บริหารเกษียณก็ให้ตำแหน่งยุบตามตัวบุคคล ไม่แต่งตั้ง ซึ่งเท่าที่สำรวจแล้ว พบว่า
โรงเรียนที่อยู่ในกลุ่มนี้มีอยู่จังหวัดละ 1 แห่ง รวมแล้วประมาณกว่า 70 โรงเรียนทั่วประเทศ และบางแห่งจำเป็นต้องคงอัตราไว้ เพราะเป็นโรงเรียนในพื้นที่เกาะแก่ง พื้นที่ห่างไกล กันดาร โดดเดี่ยว
ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ สพฐ.ได้ส่งหนังสือ ขอยกเว้นไม่ยุบอัตราในกรณีที่จำเป็นไว้แล้ว ผู้บริหารที่สอบขึ้นบัญชี และอบรมเรียบร้อยแล้วก็ไม่ต้องกังวล ว่าจะไม่มีอัตราบรรจุ ทราบว่ามีหลายคนกังวลว่าจะมีปัญหา ก็ไม่ต้องห่วง
นอกจากนี้ยังสั่งการให้ สพฐ.ไปรวบรวมกฎหมายต่างๆที่ใช้มานานกว่า 5 ปี ทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตร โรงเรียนขนาดเล็ก การบริหารเขตพื้นที่ฯ เพื่อปรับปรุงให้ทันสมัยและมีความเหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน โดย สพฐ.ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาเรื่องดังกล่าวนี้แล้ว




วันพุธที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2562

สพฐ.ขับเคลื่อนงานสุขภาพจิตในโรงเรียน หลังพบมีปัญหาหลากหลายปัจจัยซึ่งอาจก่อให้เกิดเหตุร้ายได้

สพฐ.ขับเคลื่อนงานสุขภาพจิตในโรงเรียน หลังพบมีปัญหาหลากหลายปัจจัยซึ่งอาจก่อให้เกิดเหตุร้ายได้
นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์ในปัจจุบัน พบว่า เด็กและเยาวชนมีแนวโน้มต้องการรับความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตมากยิ่งขึ้น เช่น ความเครียด หรือความวิตกกังวล ปัญหาจิตเวช ปัญหาความรัก ปัญหาซึมเศร้า และปัญหาครอบครัว ที่อาจนำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์หรือเหตุการณ์ที่เป็นอันตราย
ด้วยเหตุนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ได้ ตระหนักถึงสถานการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นกับนักเรียน โดยสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา
จึงได้มีการดำเนินการพัฒนาด้านสุขภาพจิตในโรงเรียนแบบบูรณาการ โดยการสำรวจข้อมูล และ Focus Group สะท้อนถึงผลการดำเนินงานสุขภาพจิตในโรงเรียนที่ผ่านมา และเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของจิตแพทย์ นักจิตวิทยา รวมทั้งผู้ปฎิบัติงานด้านสุขภาพจิตในโรงเรียน
เพื่อร่วมกันวางแผนพัฒนาด้านสุขภาพจิต นำไปสู่การยกร่างแนวทางการดำเนินงานสุขภาพจิตในโรงเรียนแบบบูรณาการ ควบคู่กับการพัฒนาโปรแกรมสำเร็จรูปสำหรับการช่วยเหลือสุขภาพจิตของนักเรียนกับสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับจิตแพทย์และทีมสุขภาพจิตในแต่ละพื้นที่ครอบคลุมทั่วประเทศ
ส่งผลต่อการดำเนินงานสุขภาพจิตในโรงเรียนได้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมได้มากยิ่งขึ้น เพื่อดูแลส่งเสริมให้นักเรียนมีพัฒนาการและมีสุขภาพจิตที่ดี
ซึ่งถือเป็นพื้นฐานความพร้อมสู่การเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพและดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข


วันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2562

วิเคราะห์ขอค่าอาหารกลางวันรายวัน เป็นวันละ 23-36 บาท ตามจำนวนนักเรียนที่มี เตรียมเสนอ รมว.ศธ.พิจารณา

วิเคราะห์ขอค่าอาหารกลางวันรายวัน เป็นวันละ 23-36 บาท ตามจำนวนนักเรียนที่มี เตรียมเสนอ รมว.ศธ.พิจารณา
นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวภายหลังการประชุมวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายอาหารกลางวันของนักเรียนในโรงเรียนประถมศึกษา ( สังกัด สพฐ.)ตามขนาดจำนวนนักเรียน
ว่าตามที่นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) มีความห่วงใย เรื่อง การบริหารจัดการอาหารกลางวันของเด็กต้องมีคุณภาพและถูกต้องตามหลักโภชนาการ ซึ่งในการบริหารจัดการอาหารกลางวันที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พบว่า การบริหารจัดการโครงการอาหารกลางวันมีปัญหาหลายส่วน
ซึ่งพบว่าค่าใช้จ่ายรายหัวอาหารกลางวันที่ได้รับในอัตราหัวละ 20 บาทต่อวัน ใช้มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ซึ่งทำให้เกิดปัญหาขึ้นกับโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งมีเด็กเรียนน้อยทำให้ไม่สามารถจัดการบริหาร เงินค่าใช้จ่ายอาหารกลางวันได้ไม่เพียงพอ ซึ่งต่างจากโรงเรียนขนาดใหญ่ที่ไม่พบปัญหา
ที่ประชุมจึงได้มีการวิเคราะห์งบอาหารกลางวันที่ได้รับตามอัตรารายหัวว่า แต่ละวันเด็กควรจะได้รับการอุดหนุนในอัตราหัวละจำนวนเท่าไร
โดยได้มีการวิเคราะห์จากค่าแรงแม่ครัว ค่าวัสดุดิบในการประกอบอาหาร ค่าแก๊ส ค่าบริหารจัดการ ค่าอัตราเงินเฟ้อทางเศรษฐกิจ จากนั้นนำมาหารด้วยจำนวนนักเรียนจึงได้ประมวลออกมาเป็นอัตราเงินอุดหนุนรายหัวค่าอาหารกลางวันเด็ก
ซึ่งสามารถคำนวนณได้ดังนี้
จำนวนนักเรียน 1- 20 คน ค่าอาหารกลางวัน 36 บาท/คน/วัน
จำนวนนักเรียน 21- 23 คน ค่าอาหารกลางวัน 34 บาท/คน/วัน
จำนวนนักเรียน 24- 25 คน ค่าอาหารกลางวัน 33 บาท/คน/วัน
จำนวนนักเรียน 26- 27 คน ค่าอาหารกลางวัน 32 บาท/คน/วัน
จำนวนนักเรียน 28- 30 คน ค่าอาหารกลางวัน 31 บาท/คน/วัน
จำนวนนักเรียน 31- 33 คน ค่าอาหารกลางวัน 30 บาท/คน/วัน
จำนวนนักเรียน 34- 37 คน ค่าอาหารกลางวัน 29 บาท/คน/วัน
จำนวนนักเรียน 38- 42 คน ค่าอาหารกลางวัน 28 บาท/คน/วัน
จำนวนนักเรียน 43- 50 คน ค่าอาหารกลางวัน 27 บาท/คน/วัน
จำนวนนักเรียน 51- 60 คน ค่าอาหารกลางวัน 26 บาท/คน/วัน
จำนวนนักเรียน 61- 75 คน ค่าอาหารกลางวัน 25 บาท/คน/วัน
จำนวนนักเรียน 76- 100 คน ค่าอาหารกลางวัน 24 บาท/คน/วัน
จำนวนนักเรียน 101- 120 คน ค่าอาหารกลางวัน 23 บาท/คน/วัน
จำนวนนักเรียน 121 -200 คนขึ้นไป ค่าอาหารกลางวัน 23 บาท/คน/วัน
ทั้งนี้ตัวเลขที่ปรับขึ้นยังไม่ถือเป็นข้อสรุปแต่เป็นเพียงการวิเคราะห์จากสพฐ.เท่านั้น เพราะต้องนำข้อมูลเหล่านี้ไปให้สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง พิจารณาถึงความเหมาะสมและความเป็นไปได้อีกครั้ง
ต่อจากนั้นจะเสนอให้ รมว.ศธ. นำข้อมูลดังกล่าวเสนอรัฐบาลเพื่อนำประกอบการพิจารณาค่าอาหารกลางวันของนักเรียนต่อไป คาดว่าจะนำเสนอผ่านในสัปดาห์หน้า
CR:
อีทีวีแม็ค เวทีสาธารณะเพื่อการศึกษา




เลขาธิการ กพฐ.มอบหมายให้ สตผ.จัดประชุมปฏิบัติการพิจารณาคัดเลือกโรงเรียนที่มีรูปแบบจัดกิจกรรม ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ : Active Learning ที่ประสบความสำเร็จและเป็นต้นแบบได้ ในระดับ สพฐ.





                               
วันที่ 10-12 กรกฎาคม 2562 ณ โรงแรมบียอนด์สวีท กทม.โดย ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช ผู้อำนวยการสำนักติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้รับมอบหมายจากเลขาธิการ กพฐ.ให้เป็นประธานเปิดการประชุมและ บรรยายพิเศษ ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 และ สพฐ.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการจัดกิจกรรม ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ : Active Learning เป็นผู้พิจารณาคัดเลือกจากเอกสารการประเมินโรงเรียนต้นแบบระดับ สพท. จำนวน 225 เขต ที่ส่งผลการคัดเลือกตามเกณฑ์การคัดเลือกของ สพฐ.เขตละ 1 โรงเรียน ซึ่งมีโรงเรียนที่ได้รับคัดเลือกระดับ สพท.เข้ารับการพิจารณาคัดเลือกครั้งนี้ จำนวน 153 โรงเรียน จากโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ รุ่นที่ 1 จำนวน 3,831 โรงเรียน รุ่นที่ 2 จำนวน 15,897 โรงเรียน
ซึ่งคณะกรรมการจะดำเนินการคัดเลือกให้เหลือจำนวน 30 โรงเรียน แล้ว สพฐ.จะดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกลงพื้นที่เชิงประจักษ์ ระหว่างวันที่ 4-10 สิงหาคม 2562 เพื่อพิจารณาคัดเลือกในรอบสุดท้ายให้เหลือ 20 โรงเรียน แล้วประกาศเป็นโรงเรียนต้นแบบลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ : Active Learning ระดับ สพฐ. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562
จากนั้นจะดำเนินการถอดบทเรียน เพื่อเป็นต้นแบบให้กับโรงเรียนในสังกัด สพฐ.ได้ศึกษา และดำเนินการต่อยอดสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับโรงเรียนต่างสังกัดต่อไป




วันอังคารที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2562

"เลขาธิการ กพฐ. ปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาผู้นำเยาวชน…รักษ์พงไพร โครงการค่าย “เยาวชน…รักษ์พงไพรเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี"

"เลขาธิการ กพฐ. ปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาผู้นำเยาวชน…รักษ์พงไพร โครงการค่าย “เยาวชน…รักษ์พงไพรเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี"




.
เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2562 ณ โรงแรมกานต์มณี พาเลซ กรุงเทพฯ นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานในพิธีปิด การประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาผู้นำเยาวชน…รักษ์พงไพร โครงการค่าย “เยาวชน…รักษ์พงไพรเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” 
.
นายสุเทพ ชิตยวงษ์ กล่าวว่า โครงการค่ายเยาวชน…รักษ์พงไพร มีวัตถุประสงค์เพื่อ ปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงพัฒนานักเรียน พัฒนาครูผู้รับผิดชอบฯ และผู้เกี่ยวข้อง ให้เป็นแกนนำการต่อยอดขยายผลในพื้นที่ และร่วมกันถวายรายงานในส่วนของนิทรรศการแบบบูรณาการโครงการค่าย เยาวชน…รักษ์พงไพร เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้เป็นไปอย่างสมพระเกียรติ
.
ทั้งนี้การขับเคลื่อนงานนี้ ได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย 13 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มูลนิธิสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย กรมป่าไม้ และอุทธยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมหม่อนไหม รวมถึง องค์กรสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร ทรู คอร์ปอเรชั่น และเครือเจริญโภคภัณฑ์
.
สำหรับการดำเนินโครงการฯ ประจำปี 2562 กำหนดให้มีการจัดค่ายจำนวน 31 ศูนย์ๆ ละ 4 รุ่นทั่วประเทศ มีนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมรุ่นละ 60 คนรวมจำนวนทั้งสิ้น 7,440 คน ครูวิทยากร/แกนนำ รุ่นละ 10 คน รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,240 คน
.
นายสุเทพ ชิตยวงษ์ กล่าวต่อไปว่า การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในประเด็นที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญและเข้ามามีส่วนร่วมในการปลูกฝังจิตสำนึก และเสริมสร้างคุณลักษณะที่พึงประสงค์ให้แก่เยาวชนอันเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของชาติ ดังนั้น การพัฒนาผู้นำ เยาวชน…รักษ์พงไพร ระดับประเทศ ปี 2562 เป็นเรื่องที่ดีที่นักเรียนจะนำไปต่อยอดขยายผลทั้งในระดับโรงเรียนและชุมชน และนอกจากนี้สิ่งที่ทาง สพฐ. อยากเห็นมากกว่านั้นคือ การนำหลักการ แนวทาง และวิธีการเหล่านี้ไปบูรณาการให้ถึงห้องเรียนให้ได้เพราะเป้าหมายสุดท้ายของโครงการคือการสร้างความยั่งยืนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนอย่างแท้จริง

สพฐ. จับมือ 62 ผอ.สพม. สร้างความเข้มแข็งพี่เลี้ยง ยกระดับมาตรฐานการศึกษา เตรียมพร้อมผู้เรียนสู่การประเมินนานาชาติ

                                    ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในการประชุ...